วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2551

Persepolis: กว่าจะมาเป็นเล่ม

รูปที่เธอเห็นอยู่นี่ เป็นรูปของหนังสือแพร์ซโพลิสทั้งสองเล่มที่เพิ่งพิมพ์เสร็จสดๆ ร้อนๆ ให้ฉันผู้เป็นแม่ (ถ้าจะเปรียบคงเป็นแม่นม ส่วนมาร์จอเน่เป็นแม่ผู้ให้กำเนิด) เข้าไปตรวจสอบคุณภาพของลูกๆที่ฉันฟูมฟักมากับมือทั้งภาษา สำนวนการแปล และการผลิตออกมาเป็นรูปเล่มจนถึงมือของผู้อ่าน(ที่มองลึกลงไปกว่าที่เห็นว่าหนังสือสองเล่มนี้เป็นแค่หนังสือการ์ตูนธรรมดา)

ฉันมักจะได้อะไรมากกว่าที่คาดไว้เสมอ การเยี่ยมเยือนหจก. วรรณกรรม พบคุณสุริยันต์ อันตนนา ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ของโรงงานที่รับเข้าเล่มหนังสือ (Book Binding) แห่งนี้ ฉันไม่รู้มาก่อนว่ามีการแยกบริการการพิมพ์กับการเข้าเล่มออกจากกัน ในความรู้สึกของคนทั่วไป คือ เข้าโรงพิมพ์แล้วก็ออกมาเป็นหนังสือ ที่ไหนได้ขั้นตอนการเข้าเล่มหนังสือสำคัญมิใช่น้อยเลยนะเธอ โรงพิมพ์ก็ทำหน้าที่พิมพ์สมชื่อ แล้วก็ส่งกระดาษที่พิมพ์แล้วมาที่นี่เพื่อเข้าเล่ม ขั้นตอนแรกก็คือการตัดกระดาษตามรูปเล่ม จากนั้นก็เรียงหน้า แล้วจึงไสกาวไส้ใน เข้าเล่มกับตัวปก สุดท้ายก็การบรรจุหีบห่อสำหรับส่งไปยังบริษัทรับจัดจำหน่าย

ฟังๆ แล้วก็ไม่น่ายาก แต่งานปิดทองหลังพระนี้ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่ใครๆ คิด คุณภาพของกระดาษเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพการเข้าเล่มอย่างที่ฉันไม่เคยนึกมาก่อน



จากภาพแรก เธอจะเห็นกาวร้อนๆ ที่สาดไปยังกระดาษแบบต่างๆ กระดาษสีน้ำตาลรีไซเคิลเป็นแบบที่กาวมีการเดือดปุดสูงสุด ผลเป็นอย่างไรหรือเธอ ก็ทำให้ตอนไสกาวเข้าเล่มมีฟองอากาศอยู่มาก หนังสือก็มีโอกาสหลุดเป็นชิ้นๆ ได้ง่ายไงล่ะ เธอลองดูคุณภาพกระดาษที่ทำให้เกิดฟองอากาศน้อยที่สุดนะ เมื่อฉันพลิกอีกด้านให้ดู คุ้นๆ มั้ยว่ามันคลับคล้ายคลับคลาเหมือนหน้าปกหนังสือเล่มไหน นี่คือสิ่งที่ฉันอยากเล่าให้เธอฟังว่าคุณภาพของกระดาษก็มีผลต่อความแข็งแรงคงทนของการเข้าเล่มหนังสือนะ



คำบรรยายในสไลด์คงบอกอะไรเธอได้พอสมควรนะ การกระทำหลายๆ อย่าง มาจากการเรียนรู้ข้อผิดพลาด ฝนเคยรั่วเมื่อตอนที่เป็นหลังคากระเบื้อง ตอนนี้ก็เปลี่ยนเป็นหลังคา metal sheet ถ้าไฟจะไหม้ ทำไงดีล่ะ มีแต่เชื้อไฟอย่างดีทั้งนั้น โรงงานนี้เดินสายไฟอยู่ระดับเหนือศีรษะทั้งหมด การช็อตหรือไหม้จะเกิดด้านบน สำหรับด้านล่าง หนังสือจะอยู่บนพาเลตทั้งหมด กันทั้งน้ำท่วมและขนย้ายสะดวกหากเกิดเหตุสุดวิสัยจริงๆ โรงงานที่ดี ไม่ใช่เพียงแค่รักษาความปลอดภัยจากอัคคีภัยและวาตภัย ยังต้องดูแลให้ลิขสิทธิ์ทางปัญญาไม่ได้ถูกผู้มิประสงค์ดีขโมยไปขาย เศษกระดาษที่พิมพ์เกินจะถูกนำไปจำหน่ายจ่ายแจกให้โรงงานรีไซเคิล ห้ามส่งเกินแม้เพียงเชือกฟางที่รัดกระดาษเข้าด้วยกัน บริเวณโรงงานห้ามบุคคลภายนอกเดินเพ่นพ่าน (ยกเว้นมาตรวจงาน ได้รับอนุญาตอย่างฉันเท่านั้น) ประตูม้วนไฟฟ้าปิดตอนห้าโมงเย็น



ถ้าเธอดูก่อนอ่าน ฉันว่าเธอทายไม่ถูกหรอกว่า ฉันต้องการจะสื่ออะไรจากสไลด์ชุดนี้ ลองปิดเนื้อหาข้างล่างแล้วลองคิดๆ ดูมั้ยละเธอ

เมื่อไสกาวเข้าเล่มหนังสือเรียบร้อยแล้ว พนักงานก็จะเช็ดทำความสะอาด เรียงเล่มเป็นปึกและใช้พลาสติกห่อ ของแบบนี้มีศิลปะในการทำงานนะจะบอกให้ ถ้าสังเกตจะเห็นว่า ไม่ได้เรียงแบบเดียวกัน ด้านที่มีพลาสติกหุ้มทั้งหมดจะเรียงเพื่อประโยชน์ในการนับ หันสันสีม่วงออกห้าเล่ม หันอีกด้านออกห้าเล่ม แต่สำหรับด้านที่พลาสติกหุ้มไม่หมด ถ้าไม่ใส่กระดาษขาวกันเปื้อนตรงช่วงที่ไม่มีพลาสติก ก็หันสันปกสีม่วงไว้ตรงกลาง ถ้าเพ่งมองจะเห็นว่ามีการเรียง 2 เล่มบนและล่างให้หน้าด้านสีขาวหันออกมา ส่วนอีกแปดเล่มที่เป็นไส้กลางจะหันสันทีม่วงซึ่งเราพิมพ์แบบเคลือบด้านเอาไว้อยู่แล้ว ทำให้เลอะยาก ถึงเลอะก็เช็ดออกค่ะ

แต่เดิมที่โรงงานไม่ได้ห่อด้วยพลาสติกหรอกนะ ห่อด้วยกระดาษธรรมดา แต่ข้อดีของพลาสติกคือ กันน้ำ มองเห็นง่าย การขนย้ายหนังสือผิดพลาดได้ยาก หากมีใครลักลอบขนหนังสือไปขายก็สามารถรู้ได้โดยง่าย หนังสือกองใดหายไปก็รู้ทันที คุณสุริยันต์ดูแล้วคุ้มแม้ว่าค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าถึงเท่าตัว ฉันเองมาตรวจคุณภาพหนังสือ เปิดหีบห่อพลาสติกเสียไปเป็นสิบ ให้รู้สึกเกรงใจไม่น้อย แต่เพื่อการตรวจเช็คคุณภาพ การมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่สร้างความมั่นใจให้เราได้ว่า ลูกค้าจะได้รับหนังสือที่มีคุณภาพ แต่อย่างไรก็ดี หากมีหนังสือด้อยคุณภาพเล็ดลอดไปได้ เรายินดีรับหนังสือคืนและเปลี่ยนเป็นหนังสือเล่มใหม่ที่สดใสกว่าให้สำหรับลูกค้าของกำมะหยี่ทุกท่าน ไม่ว่าจะซื้อผ่านร้านหนังสือร้านใดๆ

หวังว่าเธอคงเห็นความตั้งใจของพวกเราชาวกำมะหยี่ผ่านตัวอักษร ภาพ สไลด์ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง จนกระทั่งหนังสือพิมพ์เสร็จพร้อมส่งถึงมือเธอนะจ๊ะ

1 ความคิดเห็น:

Sayo กล่าวว่า...

:)
This post is really impressive naka.