Azadi Monument (Freedom Monument) in Tehran, Iran
“ถัดจากห้วงแห่งความคิด คือท้องทุ่งกว้าง ฤาเราจะพบกันที่นั่น” รูมี นักปรัชญาชาวเปอร์เซีย (1207-1273)
หลายพันปีมาแล้วที่ชาวเปอร์เซียสรรสร้างความงาม หลายร้อยปีก่อนหน้าความศิวิไลซ์อย่างที่เรารู้จักจะเกิดขึ้น ชนเผ่าอารยันที่อพยพเข้ามาในดินแดนแถบนี้ได้นำเลือดใหม่เข้ามาผสมผสานในดินแดนของชาวอิหร่านและทางเหนือของอินเดีย เลือดใหม่นำมาซึ่งภาษาสันสกฤตอันเป็นภาษาแม่ของภาษาในตระกูลอินโด-ยูโรเปียนทั้งหมด และการผสมผสานทางความคิดก็ก่อให้เกิดคัมภีร์พระเวท อุปนิษัท และพระพุทธเจ้า ชาวเปอร์เซียเป็นต้นธารแห่งความศิวิไลซ์ ที่ลำเลียงเลือดเนื้อ ความคิด ศิลปะ และความเชื่อทางศาสนา ไปสู่ตะวันออกและตะวันตกของโลก ความเชื่อโบราณของเปอร์เซียใช่เพียงส่งผลอิทธิพลต่อศาสนายูดาย คริสต์ และอิสลามเท่านั้น หากแต่เป็นหนึ่งในปรัชญาศีลธรรมขั้นสูงสุดตลอดกาลของแนวคิดที่ว่า ชีวิตคือการต่อสู้ดิ้นรนเพียงชั่วครู่ชั่วยามระหว่างแสงสว่างและความมืดมน ความถูกต้องและความผิด ความดีและความชั่ว และมนุษย์พึงต่อสู้เพื่อแสงสว่าง และช่วยให้เทพแห่งแสงสว่าง (Ahura Mazda) มีชัยในสงครามอันยิ่งใหญ่ซึ่งมีขอบเขตกว้างไกลทั่วจักรวาลและมีระยะเวลายาวนาน สงครามนี้ทำให้มนุษย์แต่ละคนมีความหมาย คุณค่า และเกียรติภูมิที่ไม่สูญลับแม้เมื่อชีพดับสูญ
สองพันห้าร้อยปีผ่านไปนับตั้งแต่ชาวเปอร์เซียสร้างจักรวรรดิแรกสุดของโลกขึ้น ในตอนนั้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการจารึกว่า จักรวรรดิอันไพศาลเกือบเท่าสหรัฐอเมริกามีการปกครองที่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีการบริหารราชการที่มีประสิทธิภาพ โครงข่ายการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็ว การขนย้ายสินค้าและการสัญจรของผู้คนได้รับการอารักขาอย่างดีตามถนนหลวง และแม้กระทั่งช่วงที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชยกทัพเข้ามารุกรานและยึดครองดินแดนนี้ พระองค์ทรงประทับใจในศิลปวัฒนธรรมและไมตรีจิตของชาวเปอร์เซีย ความละเมียดละไมและสง่างามของชีวิต ไม่เพียงเท่านั้น ความงามและความอ่อนน้อมของผู้หญิงอิหร่านก็ทำให้อเล็กซานเดอร์มหาราชละทิ้งแนวคิดของการพิชิตชัย และเสนอให้มีการผสานเลือดเนื้อและความศิวิไลซ์ของกรีกและเปอร์เซียเข้าด้วยกัน กระทำตนเป็นแบบอย่างให้เหล่าทหารหาญโดยเข้าพิธีอภิเษกกับสตรีเปอร์เซีย
ไม่นานต่อมา ก็มีเหล่าผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่อีกหลายพระองค์ รัฐบาลที่มีระเบียบแบบแผน และการสร้างสรรค์งานศิลปะ วัสดุทุกประเภท ตั้งแต่ผืนแพรละเอียดอ่อนจนถึงเหล็กหรือทองแดงที่แข็งแกร่งที่สุด ผ่านการรังสรรค์ของช่างผู้ชำนาญและการออกแบบที่ประณีต ซึ่งปัจจุบันเป็นแรงบันดาลใจทางศิลปะที่ส่งอิทธิพลต่อการตกแต่งแบบไบเซนไทน์และเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในเปอร์เซียอิสลาม
การรุกรานของชาวอาหรับส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องของพัฒนาการทางวัฒนธรรม แต่เวลาผ่านไปไม่ถึงร้อยปี ชาวเปอร์เซียก็เอาชนะชาวอาหรับผู้รุกรานได้ ชาวเปอร์เซียปฏิบัติต่อชาวอาหรับเฉกเช่นชาวกรีกปฏิบัติต่อชาวโรมัน ศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์กลายเป็นศรัทธาใหม่สำหรับชาวเปอร์เซีย มีการสร้างนักภาษาศาสตร์ นักไวยากรณ์ นักพจนานุกรมศาสตร์ และนักประวัติศาสตร์ ขึ้นมาเพื่อพลิกฟื้นวรรณกรรมยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ต่อมาไม่นาน ห้องสมุดประชาชนที่เมืองเรย์ก็ต้องใช้แคตาล็อกสำหรับจดชื่อหนังสือในห้องสมุดนั้นถึงสิบเล่มใหญ่ๆ เมืองเมรีมีห้องสมุดถึง 10 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีหนังสือ 12,000 เล่ม ในช่วงต้นๆ หรือเพียงศตวรรษที่สามของยุคมุสลิม ชาวเปอร์เซียก็มีนักประวัติศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง อัล-ตาบารี และเมื่อ 900 ปีที่แล้ว นักปราชญ์ชาวเปอร์เซีย อิบนุ มิซกะวัยฮ (Ibn Miskawayh) ได้จารึกสิ่งซึ่งถือว่าเป็นประวัติศาสตร์สากลเล่มแรกของโลกจากมุมมองทางปรัชญา
ไม่มีชนชาติใดในประวัติศาสตร์ อาจยกเว้นเพียงชาวญี่ปุ่น ที่มีกวีมากเท่าเปอร์เซีย โอมาร์ คัยยาม, ฮาเฟซ ซาอิด, รูมี และ แฟร์ดอว์ซี เป็นเพียงตัวอย่างของกวีชาวเปอร์เซียชื่อก้องโลก มหากาพย์ชอห์นอแมร์ Shahnameh หรือตำนานวีรกษัตริย์ของแฟร์ดอว์ซีเป็นหนึ่งในผลงานเอกของวรรณกรรมโลกซึ่งไมมีงานเขียนใดที่มีการประพันธ์ บรรยาย หรือนำเสนอ จะงดงามทัดเทียมมหากาพย์ Shahnameh ที่แสนพิเศษสุด ซึ่งได้รับการเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์หรือของสะสมส่วนบุคคล
ยังไม่ได้กล่าวถึงความรุ่งเรืองเฟื่องฟูของแพร์สโพลิส Persepolis โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ และภาพสลักอันมโหฬาร ยังไม่ได้กล่าวถึงภาพสลักหินของชาวเปอร์เซียจากสมัยพระเจ้าดารีอัสที่หนึ่งถึงชาปูร์ที่สอง และยังไม่ได้กล่าวถึงซากปรักที่หลงเหลือเพียงเสี้ยวของศิลปะแบบเปอร์เซียที่ชาวตุรกี ชาวมองโกล และกองทัพทาร์ทาร์ทิ้งไว้ ชาวเปอร์เซียปฏิบัติต่อผู้ยึดครองเหล่านี้เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติต่อชาวอาหรับ เปอร์เซียเปลี่ยนผู้รุกรานจากทหารหาญให้เป็นศิลปิน
ชาวมองโกลผู้รุกรานย่ำยีความรุ่งเรืองเหลือไว้เพียงซาก ทำลายคลองส่งน้ำบำรุงผืนดิน กวาดล้างห้องสมุดที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของชาวเปอร์เซีย เปอร์เซียกลับตอบแทนการกระทำของผู้ทำลายด้วยการเปลี่ยนชาวมองโกล...เช่นเดียวกับผู้รุกรานกลุ่มอื่น...ให้เป็นผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักและผู้สรรสร้างงานศิลปะ
เมืองทาบริซ (Tabriz) ที่มั่งคั่งจากการค้าระหว่างแดนมองโกลทางตะวันออกกับหัวเมืองต่างๆ ของทะเลดำ เป็นไปได้ว่าชาวมองโกลใช้เส้นทางนี้นำศิลปะการพิมพ์จากจีนเข้ามา ทาบริซจึงพิมพ์ธนบัตรเองได้ในปี ค.ศ. 1294 คงไม่ต้องกล่าวถึงสุเหร่าอันยิ่งใหญ่มากมายที่สร้างขึ้นและถูกทำลายที่ทาบริซ จากการสังเกตการณ์อันโด่งดังที่ Maragha ใกล้ทาบริซ ที่ซึ่งในปี 1259 ฮูลากูข่าน (Hulagu)แนะนำนักดาราศาสตร์ชั้นนำชาวจีนให้โลกมุสลิมได้รู้จัก และเมืองมหาวิทยาลัยที่สร้างขึ้นบริเวณตอนใต้ของทาบริซ โดยนายกรัฐมนตรีผู้ยิ่งใหญ่ราชิด อัล-ดิน ในช่วงต้นศตวรรษที่ 14 ของคริสตกาล ทั้งยังเคยกล่าวไว้ว่า “ไม่มีการกระทำใดที่จะยอดเยี่ยมไปกว่าการสนับสนุนวิทยาศาสตร์และปรัชญา...เพื่อให้นักปราชญ์สามารถสร้างผลงานได้อย่างเต็มที่ปราศจากข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ”
เธอเคยเห็นมุมนี้ของอิหร่านมั้ย ติดตามต่อไปนะ ว่าฉันจะหันมุมไหนของอิหร่านให้เธอมองอีก...
ถอดความจากบทความของ Will Durant โดยคำแนะนำของ Dr. Reza Rafaei
ศึกษาในเชิงลึกเกี่ยวกับประวัติการศึกษาอิสลามได้ที่นี่
หรือไปเที่ยวอิหร่านก็ลองดูข้อมูลจากเว็บนี้นะจ๊ะ
วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น