วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เรียนรู้เพื่อเข้าใจ

มองนอกดูใน : หัวใจเดียวกัน

แหม ฉันเจอสองบทความเขียนโดยคนๆ เดียวกัน แต่น่าเอามาใส่ไว้ ณ ตรงนี้จริงๆ

+++
เมื่อต้นปีที่แล้ว ข้าพเจ้าได้รับเชิญจากรัฐบาลของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านให้ร่วมเป็นเกียรติในงานประกาศเกียรติคุณสตรีที่ได้รับการคัดสรร อันเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี แห่งการปฏิวัติอิสลามของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นพิธี ข้าพเจ้าได้มีโอกาสใช้เวลาหลังจากนั้นเยี่ยมชมสถานที่ พบปะบุคคล และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้หญิงอิหร่านในเรื่องของการทำงาน ทำให้ได้รู้ถึงหัวใจของผู้หญิงที่ต้องต่อสู้เพื่อชนะกิเลสในตัวเอง

เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ผู้หญิงอิหร่านนามว่า ชิริน อีบาดี ได้มาเยี่ยมข้าพเจ้าที่เสถียรธรรมสถาน เธอได้รับเชิญให้มาเยือนประเทศไทย เพื่อร่วมงาน "ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประชาธิปไตย" จัดโดยมูลนิธิสันติภาพนานาชาติ เธอผู้นี้เป็นผู้หญิงมุสลิมคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในปี 2546 และเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี เด็ก และผู้ลี้ภัย เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้นำของ Associate for the Support of Children ฯลฯ เธอเคยเดินทางมาฮันนีมูนที่เมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน และการแวะเยี่ยมข้าพเจ้าครั้งนี้ก็เนื่องจากได้รับทราบว่าข้าพเจ้าทำงานมากมายเกี่ยวกับเด็กและผู้หญิง ซึ่งเป็นงานที่เธอทุ่มเทเช่นกัน เราจึงมีโอกาสได้พูดคุยกัน และชวนกันสานต่องานว่าด้วยเรื่องเด็กและผู้หญิง


อีบาดี กล่าวว่า เธอรู้ว่าข้าพเจ้าทำงานหลายอย่างเพื่อเด็ก เธอจึงอยากจะขอให้ข้าพเจ้าช่วยทำงานกับเด็กๆ มุสลิมทางใต้ด้วย อีกทั้งเสนอแนะว่าควรมีโรงเรียนให้ทั้งเด็กพุทธและเด็กมุสลิมได้เติบโตมาด้วยกัน เพื่อพวกเขาจะได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนวิถีชีวิตร่วมกัน เมื่อโตขึ้นเด็กเหล่านี้จะรู้ว่าไม่มีความแตกต่างในเรื่องของวัฒนธรรมที่ทำให้เกิดความแตกร้าวขึ้นได้ เพราะ
ถ้าเราปล่อยให้สังคมมุสลิมอยู่แต่ในสังคมตัวเอง และสังคมพุทธก็อยู่ในสังคมตัวเอง จะไม่มีทางที่ทำให้สองฝ่ายเข้าใจกันได้เลย

ข้าพเจ้าจึงเล่าให้อีบาดีฟังว่าเรามีโอกาสเดินทางไปคุยกับครูอาจารย์ในจ.ยะลา เพื่อเป็นการให้กำลังใจพี่น้องไทยพุทธและไทยมุสลิม ที่ทำงานช่วยเหลือเด็กๆ โดยเอาประสบการณ์ที่ไปเยี่ยมเด็กๆ ในหกจังหวัดทางภาคใต้ที่ประสบธรณีพิบัติภัยสึนามิ และได้ทำงานสร้างห้องสมุดในหมู่บ้านชั่วคราวที่มีทั้งเด็กไทยและเด็กมุสลิมซึ่งข้าพเจ้ามั่นใจว่าภาษาและวัฒนธรรมในการดำเนินชีวิตจะสามารถเชื่อมโยงให้เด็กๆ สัมผัสหัวใจของกันและกันได้โดยการอ่านหนังสือ เวลาที่เราทำห้องสมุด เราเลือกหนังสือที่ทำให้เด็กชาวพุทธ มุสลิม คริสต์ ได้เข้าไปอ่านในห้องเดียวกันได้ รอยยิ้มของเด็ก ๆ ที่เป็นธรรมชาติเป็นความสุขอันเดียวกัน ความสุขเป็นเรื่องสากล ไม่ว่าจะเป็นความสุขของเด็กคนไหนก็เป็นความสุขของโลกใบเดียวกัน เด็กๆ ที่อยู่ในวัฒนธรรมที่แตกต่างแต่สามารถมีหัวใจอันเดียวกันได้


ข้าพเจ้าคุยกับเธอว่า จากการทุ่มเททำงานมากมาย ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องผ่านอุปสรรคต่างๆ เธอยังมีความกลัวอะไรอยู่บ้างไหม เธอตอบว่า ความกลัวเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่ง เหมือนความหิวที่เราห้ามไม่ได้ไม่ว่าเราจะอยากหรือไม่อยาก แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาก็ได้เรียนรู้ว่า เธอจะไม่ปล่อยให้ความกลัวใดเข้ามากีดขวางการทำงานของเธอ กอปรกับเธอเป็นผู้ปฏิบัติในศาสนาอิสลาม สิ่งนี้มีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นอย่างมากทีเดียว

" พระองค์อัลเลาะห์ได้ช่วยอะไรคุณบ้าง ? " ข้าพเจ้าถามก่อนจะลาจากกันในวันนั้น

"พระองค์อัลเลาะห์อยู่ในตัวฉัน และเฝ้าดูฉันอยู่ตลอดเวลา หากฉันทำไม่ดี พระองค์อัลเลาะห์ก็จะไม่ยอมรับ ทุกครั้งที่ฉันช่วยคนแต่ละคน ฉันรู้ว่าพระองค์อัลเลาะห์มีความสุข"

หากทุกคนมีสิ่งยึดเหนี่ยวที่ถูกที่ควรในใจ ไม่ว่าจะเกิดชาติไหน...ไหน ก็ควรจะมีหัวใจเดียวกัน...คือหัวใจแห่งความดีงาม อันจะนำมาซึ่งความสงบและผาสุกของตน ของสังคม และของโลก

ธรรมสวัสดี
คม-ชัด-ลึก วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2548
+++

ไม่มีความคิดเห็น: