วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2551

มุมต่างเรื่องผู้หญิงอิหร่านจากเสถียรธรรมสถาน



ข้อความข้างล่าง ฉันก๊อปปี้มาจากลิงค์ข้างบน ฉันอ่านมาหลายเว็บ เห็นความเฉพาะตัวของอิหร่านที่แตกต่างสุดขั้วอย่างที่ไม่น่าเป็นไปได้ ในขณะที่ใครๆ ก็ดูจะคิดว่า อิหร่านกดขี่ผู้หญิง ต้องสวมฮิญาบบ้างล่ะ ห้ามขี่จักรยานบ้างล่ะ ถ้าสามีต้องการหย่า 3 ครั้ง ผู้หญิงก็ต้องยินยอม แต่ก็ผู้หญิงนั่นแหละที่เรียนในระดับปริญญาตรีสูง รองประธานาธิบดีของอิหร่านก็เป็นผู้หญิง ในบางมุม การสวมฮิญาบเป็นการรักษาความปลอดภัยให้ผู้หญิง การแต่งกายอวดเนื้อหนังมังสาแบบตะวันตกดูเหมือนมองว่าผู้หญิงเป็นวัตถุแห่งเซ็กซ์ เมื่อฉันยิ่งศึกษาลึกลงไปเท่าใด อะไรที่คิดว่าถูก อาจจะไม่ถูก อะไรที่คิดว่าผิด แต่ถ้ามองอีกมุมก็ไม่ผิดนะ ฉันก็คงทำได้แค่หาข้อมูลมาให้เธอพิจารณาและตัดสินใจเอาเองแหละ ถ้าเรื่องไหนน่าสนใจ ฉันอาจจะนำมาใส่เป็นบทความ หรืออย่างน้อย ฉันก็ใส่ลิงค์ให้เธอไปเลือกแวะชมนะ ลองอ่านบทความข้างล่างดูละกัน ว่าความแตกต่าง บางครั้งก็เป็นแค่ความแตกต่าง อย่าไปตัดสินอะไรให้มันซะทุกอย่าง


+++

เมื่อได้ข่าวว่าข้าพเจ้าจะต้องมาเข้าร่วมประชุมที่ประเทศอิหร่าน คนใกล้ตัวได้ให้ข้อมูลที่ทำให้ข้าพเจ้าต้องเตรียมตัวทั้งภายนอกคือเรื่องเครื่องแต่งกายที่ผู้หญิงจะต้องใช้ผ้าคลุมศีรษะและแต่งตัวที่เห็นได้แค่หน้ากับมือเท่านั้น ส่วนเรื่องภายใน ข้าพเจ้าจะต้องเตรียมจิตใจเพื่อเรียนรู้กับเพื่อนมุสลิม

วันแรกที่ได้สัมผัสวิถีชีวิตชาวอิหร่าน ข้าพเจ้าเห็นผู้คนที่เดินอยู่บนท้องถนนมากมายสวมเสื้อคลุมสีดำตั้งแต่ศรีษะจรดเท้า แต่ใบหน้ามีรอยยิ้มและแววตาที่มีความเป็นมิตรไมตรี

การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อให้รางวัลแด่ผู้หญิงมุสลิมที่ทำงานอันเป็นประะโยชน์แก่ศาสนาอิสลามในการประชุมเรื่อง "มุมมองของผู้หญิงทั่วโลกที่มีต่อการปฏิวัติอิสลาม" ( Islam Revolution in the World women’s Thought ) ณ กรุงเตหะราน ในวันที่ ๑๐ มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองครบรอบ ๒๕ ปีแห่งการปฎิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเรียนรู้กับเพื่อนผู้หญิงมุสลิมมากมากจากหลายประเทศอาทิ สตรีที่มาจากเลบานอล กาน่า อียิปต์ เยอรมัน รัสเซีย เซ้าว์อัฟริกา เคนย่า ฯลฯ และสุภาพสตรีที่ทำงานในรัฐบาลอิหร่านอันได้แก่ Dr. Masoume Ebterkar ที่เป็นรองประธานาธิบดีและเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม และ Dr. Zahra Shojaei ที่ปรึกษาประธานาธิบดีและหัวหน้าสำนักงานของประธานาธิบดีในส่วนของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิง และบุคคลสำคัญที่ข้าพเจ้าได้พบอีกท่านหนึ่งคือ บุตรสาวของท่านอิมาม โคมัยนี ผู้นำการปฏิวัติอิสลาม ที่เคยกล่าวถึงความสำเร็จของการปฏิวัติว่า "ในการปฏิวัติอิสลาม เราเป็นหนี้ผู้หญิงอิหร่านทั้งประเทศ เพราะผู้หญิงทุกคนได้เสียสละลูก สามีและความสะดวกสบายต่างๆเพื่อให้การปฏิวัติสำเร็จ" และ ยังกล่าวถ้อยคำอย่างหนักแน่นไว้อีกด้วยว่า "ผู้หญิงคือผู้สร้างสังคม" Mrs. Zahra Mostafavi เองก็ได้ย้ำกับกลุ่มสตรีนานาชาตินี้ว่า การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านเป็นต้นแบบของการปฏิวัติทั่วไป โดยจุดมุ่งหมายของการปฏิวัติคือการปฏิวัติจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าของมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง

มีสิ่งที่น่าจะนำมาเล่าสู่กันฟังอีกเรื่องหนึ่ง คือเมื่อข้าพเจ้าได้สนทนากับรองประธานาธิบดีหญิงที่ในสมัยการปฎิวัติเธอเป็นผู้หนึ่งที่เข้าร่วมขบวนการปฏิวัติ เธอได้ย้ำว่า "ท่านอิมามโคมัยนีไม่ได้เป็นเพียงผู้นำการปฏิวัติเท่านั้น แต่ท่านยังให้เครื่องมือในการปฏิบัติตนเพื่อให้ดูแลชีวิต โดยเน้นถึงการนำคำสอนของศาสดามาใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน และในการทำงานของรัฐบาลอิหร่าน ไม่ว่าจะมีการพัฒนาในทางใดก็ตามเพื่อความก้าวหน้าของประเทศ แต่จุดสำคัญที่ยังต้องคงไว้คือหลักการทางศาสนา เพราะศาสนาจะทำให้พัฒนาจิตใจให้เข้มแข็ง เราเชื่อมั่นว่าหากเราให้ความเข้มแข็งทางจิตใจแก่เด็กและเยาวชนคนรุ่นถัดไปจากเราได้ เราก็จะไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องพฤติกรรมของเขาในอนาคต"

ข้าพเจ้าได้แสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนว่า การปฏิวัติคือกระบวนเริ่มต้นที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ออกมาจับมือทำงานร่วมกัน ภายใต้ผ้าคลุมสีดำที่มีแสงสว่างแห่งปัญญา และแววตาของความเป็นมิตรที่เปิดใจพร้อมที่จะเรียนรู้และท้าทายในสิ่งที่จะทำได้ยาก โดยการจับมือกันสร้างเครือข่ายของวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ภายในจิตใจของตัวเอง

การประชุมครั้งนี้สรุปได้ว่า สตรีมุสลิมคือพลังปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ในการประกาศศักดิ์ศรีที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์ที่ท้าทายความเสื่อมทรามของศีลธรรม ที่นำสตรีมาเป็นเครื่องมือในการโหมกระพือวัฒนธรรมบริโภคนิยม การบูชาลัทธิวัตถุนิยมสุดโต่ง และขบวนการเสรีนิยมที่ไร้ขอบเขต ซึ่งในที่สุดแล้วไม่แต่เพียงสตรีเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อผู้น่าสงสาร แต่เป็นมนุษยชาติทั้งมวลนั่นเอง ที่ต้องประสบกับความหายนะที่เลวร้ายที่สุด ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ


ธรรมสวัสดี
+++

ไม่มีความคิดเห็น: