วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553

อ่านแล้วน่าสนใจ เผื่อมีใครได้ประโยชน์: บันทึกของคนซึมเศร้า

วันนี้ฉันเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ได้ดูทั้งจามอง สูตรเสน่หา หรือหนังละครเรื่องใดๆ เว็บไซต์แรกที่ฉันเข้าไปคือ www.gmail.com เหมือนกับที่เป็นกิจกรรมประจำวันของฉันเวลาปกติ(รึเปล่า) ตัวตนที่แท้จริงของฉันคือเวลาไหนกันแน่ ฉันยังไม่รู้เลยว่าตอนแอคทีฟคือตัวฉัน หรือตอนที่อยากอยู่คนเดียวคือตัวฉัน เพราะเผอิญเวลาต้องอยู่ในบทบาทไหนฉันก็ทำได้เนียนทั้งนั้น ตู้เสื้อผ้าของฉันเต็มไปด้วยเสื้อผ้าหลากแบบ ต่างดีไซน์ หลายเฉดสี สำหรับการออกงานทุกประเภทที่มีในโลกนี้ หรือเวลาที่ไม่อยากออกจากบ้านไปไหน อะไรฉันก็ใส่ได้ ไม่ว่ามันจะเข้ากัน สีตก เป้าขาด ขอให้มัน "ใส่" ได้ ฉันก็ใส่

กลับมาที่กิจวัตรประจำเดิมที่กลับมาทำอีกครั้งดีกว่า...(คงไม่เป็นไรที่วันนี้ฉันย้ายประโยคที่ลงท้ายด้วย "..." มาอยู่ย่อหน้าที่สอง) เอาเป็นว่ากลับมา "เขียน" ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสาร น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีหลังจากที่หมอปรับยาให้ฉันใหม่ อีกอย่างละครึ่งเม็ด พร้อมกับยาใหม่ล่าสุดที่ไม่เคยกิน เห็นหมอว่า ยาตัวนี้จับสารเซโรโตนินได้ดีกว่า Zoloft ยาเดิมที่กินเพื่อต้านอาการซึมเศร้า ผลข้างเคียงทำให้หิวน้ำมาก กินเท่าไหร่ก็คอแห้ง และอื่นๆ ซึ่งถ้าอยากรู้ควรไปอ่านเอกสารกำกับยา เพราะมันยาวมาก

ยาใหม่ที่ว่า ชื่อ Lexapro เม็ดละ 40 กว่าบาทแพงกว่า Zoloft บาทกว่าๆ วันนี้กินเป็นวันแรกก็ทำให้ฉันมานั่งเขียนบล้อก ท่าทางมันคงไม่เลว นี่้ถ้ามันทำฉันแอคทีฟเหมือน Zoloft คงต้องหยุดให้ทัน เพราะถ้าฉันนัดคุยงาน 5 นัดในวันเดียวอีก เวลาขาลง มันคงจะลงแบบนี้หรือมากกว่าละมัง

ฉันนั่งนับเวลาตอนที่เตรียมเล่าข้อมูลให้หมอฟัง (เมื่อเธออ่านบทความข้างล่างแล้วจะรู้ว่า ฉันเก่งนะ ที่ยอมไปหาหมอเพราะนั่นคือคนส่วนน้อยที่มีอาการแบบนี้จะทำ อิอิ) ปีที่แล้ว ฉันก็เบี้ยวไปที ให้ตายสิ มันตรงกับช่วงสัปดาห์หนังสือทั้งสองครั้งเลย ไม่แค่นั้น หลังจากที่รับปากจะทำอีกงานหนึ่ง ก็เบี้ยวมันทั้งสองงานเลย ทั้งๆ ที่มันไม่เห็นจะมีอะไรยากหรือต้องใช้ความสามารถสักกะอย่าง ของง่ายๆ ปอกกล้วยเข้าปากฉันทั้งนั้น

วันนี้ฉันเข้า gmail เช็คทั้งสามอีเมลและเพิ่มเพื่อนใน facebook ตามที่มีคนขอมา (ดีแฮะ ใครหนอ อยากเป็นเพื่อนฉัน บางคนมี mutual friend กับฉันตั้งหลายคน แต่ฉันก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นใคร แรกๆ ฉันก็มีปฏิเสธนะ แต่หลังๆ ฉันใช้ facebook เป็นเครื่องมือในการโฆษณาหนังสือของสำนักพิมพ์กำมะหยี่นี่นา ฉันต้องรับทุกคนเป็นเพื่อนสิ ฉันต้องมองว่าเป็นพรีเซนเตอร์คนหนึ่งถึงจะถูก ก็ฉันคิดได้แล้วนี่นาว่า ถ้าทำตัวให้ดัง เดี๋ยวก็ขายหนังสือได้เอง ดูมันไม่มีอุดมการณ์ยังไงชอบกล แต่มันเป็นเรื่องจิตวิทยา คนอาจจะเข้ามาสนใจเพราะอยากรู้อยากอ่านหนังสือที่ฉันจัดการให้เกิดขึ้น ถ้าของมันดีอยู่แล้ว มันก็ต้องขายได้ในระยะยาว เหตุที่คนสนใจหรือเหตุที่คนซื้อหามาอ่านไม่สำคัญเท่าความรู้สึกที่ได้รับหลังจากที่อ่านไปแล้ว ฉันอยากให้คนที่อ่านหนังสือรู้สึกว่า อ่านของคนดังแล้วมันดีจริงๆ น่ะ)

ก่อนจะเล่าต่อและให้ความเห็นเกี่ยวกับบทความที่ฉันเอามาฝากเธอในวันนี้ ฉันอยากจะเล่าเหตุการณ์ให้ฟังสองเหตุการณ์ ถือเป็นการเกริ่นให้เธอเข้าใจอาการของคนที่มีอาการซึมเศร้า คนที่กินยาชนิดเดียวกันกับฉันไม่ใช่แค่คนที่มีอาการซึมเศร้าอย่างเดียว ยานี้มีผลสำหรับคนที่มีอาการย้ำคิดย้ำทำ กลัวสังคม ฯลฯ (อยากรู้ไปอ่านเอกสารกำกับยา Lexapro เอาเองนะ) ดังนั้น มันน่าจะเป็นประโยชน์ให้คนรอบตัวผู้ป่วยเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้นและฉันเองก็จะทำตามที่บทความนี้บอกดูสิว่า มันจะทำให้ฉันรู้สึกอย่างไร

เหตุการณ์แรกคือ ตอนที่ฉันกินยา Seroquel 100 mg กับ Lamictal 50 mg ก่อนนอนเพื่อให้สมองหยุดคิด ฉันจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ตื่นมาอารมณ์ก็จะดี มีแรงทำอะไรต่ออะไรในวันรุ่งขึ้น ฉันนอนบนเตียงดิ้นทุรนทุราย อึดอัด ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ดิ้นสักพัก (ไม่รู้ใหญ่หรือเล็ก ไม่เคยจับเวลา (ยัง ยังไม่ละนิสัยกวนตีนแม้ในยามซึมเศร้า)) จนคนที่อยู่ข้างๆ บอกว่าให้สวดมนต์ (ตอนนั้นฉันแอบคิดไปเหมือนกันว่ามีใครทำคุณไสยกับฉันรึเปล่านะ ก็มันมีคนพูดว่าฉันโดนทำมาหนิ แล้วสักพักฉันก็นอนหลับไป คนข้างๆ บอกว่าน่ากลัว (บอกตอนนั่งดูทีวี) คงคิดว่าฉันผีเข้าอยู่เหมือนกัน โชคดีที่ฉันไปหาหมอแล้วถามเรื่องนี้ เพราะเหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้น 2-3 ครั้ง ฉันไม่คิดว่าจะหาคำตอบได้จากอินเตอร์เน็ต น่าแปลกที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฉันไม่คิดหาข้อมูลด้วยตัวเอง ใช้วิธีถามหมอเอา แล้วก็โชคดีที่หมอบอกว่า อาการนี้เป็นอาการของการที่ยาออกฤทธิ์ไม่เพียงพอ อะไรก็ตามที่อยู่ใต้จิตสำนึกจะแสดงออกมา ถ้ายาได้ขนาดพอดี ฉันควรจะหลับปุ๋ยภายในครึ่งชั่วโมง

เหตุการณ์ที่สอง ฉันกำลังนอนดูซีรีส์เกาหลีเพื่อให้เวลาผ่านไปเช่นเคย ยาที่กินก่อนนอนเริ่มออกฤทธิ์ฉันง่วงและอาจจะเผลอหลับไปแต่ยังหลับไม่ลึก คนที่อยู่ด้วยปลุกให้ไปนอนในห้อง ฉันเปรยขึ้นคล้ายจะรู้ว่า ถ้าฉันไม่หลับคราวนี้เป็นความผิดของคนปลุก แล้วมันก็ไม่หลับจริงๆ ฉันนอนกระสับกระส่ายเช่นเดิม แล้วก็ไปเข้าห้องน้ำ ความโมโหถึงขีดสุด พุ่งปรี๊ดเมื่อนั่งลงไปแล้วไม่เจอที่รองนั่งแต่ก้นฉันดันไปสัมผัสกับเซรามิคเย็นๆ เข้าเต็มเปา ฉันดึงฝาที่นั่งลงมาหวังจะให้ดังที่สุดเท่าที่ทำได้ ระบายความรู้สึกอัดอั้นที่อยู่ดีๆ ก็พุ่งปรี๊ดแบบที่ไม่เคยเป็นแบบนี้มานาน นานมากๆ ถ้าจะให้ฉันเปรียบเทียบก็คงเป็นตอนนี้อดีตสามีว่าฉันเรื่องใช้จ่ายฟุ่มเฟือยทั้งที่ฉันซื้อของให้แม่ของเขาด้วย และฉันมีปมอยู่แล้วว่าเลือกเป็นแม่บ้านไม่ได้หารายได้ต้องแบมือของเงินเขา ตอนนั้นฉันไม่รู้จะทำอะไร ฉันเข้าไปร้องกรี๊ดในห้องน้ำเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต นับแต่นั้นมา ฉันก็เข้าใจอารมณ์ของตัวอิจฉาในละครที่ร้องกรี๊ดๆ (ฉันจะต้องเป็นตัวอิจฉาในชีวิตจริงตลอดชีวิตเลยใช่มั้ยเนี่ย) แต่อารมณ์พุ่งปรี๊ดที่ว่าไม่ได้ทำให้ฉันร้องกรี๊ด คล้ายว่า ฉันจะรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ตกใจอยู่เหมือนกันว่าทำไมฉันถึงได้เกิดความรู้สึกรุนแรงขนาดนั้น แล้วก็ย้อนนึกไปถึงคำอธิบายของคุณหมอที่ว่า เป็นเพราะการออกฤทธิ์ของยาไม่สามารถควบคุมปัญหาที่ฝังรากลึกในจิตใจฉันได้ แต่แล้วไม่นาน หลังจากที่ดิ้นไปมาฉันก็หลับไป คราวนี้หลับและไม่อยากตื่นแม้กระทั่งมีละครจามองมาล่อ การนอนเป็นความสุขสุดยอดแล้วในช่วงนี้ แล้วก็มีคนปลุกมากินข้าว ทำกับข้าวล้างจานให้เช่นเดิม หลังจากอิ่มข้าว ดูหนังไปสักพัก คนที่บริการฉันทุกอย่างก็ถามถึงเหตุการณ์เมื่อคืน ฉันก็ว่า "จะฟื้นฝอยทำไม" แล้วก็เล่าว่าโมโหเรื่องที่รองนั่งในห้องน้ำ ใช่สิ มันไม่ใช่เรื่องที่ควรจะโมโหขนาดนั้น อย่างเก่งก็น่าจะบ่นเท่านั้นเอง ใช่ว่าฉันจะไม่รู้ เมื่อเขาบอกว่ามันไม่มีเหตุผล ฉันจึงตอบทันควัน "ถ้ามันปกติก็ไม่ต้องกินยาอย่างนี้หรอก" ...เงียบคือคำตอบ เห็นมั้ย ถ้าใครมาพูดอะไรแล้วฉันเงียบอย่าคิดว่าฉันไม่รู้ว่าจะตอบว่ายังไงนะ หลายครั้งหลายหนที่ฉันรู้และคำตอบมันปรากฏอยู่ในใจประมาณว่ามาเป็นสคริป แต่ฉันก็รู้ว่าถ้าฉันพูดออกไป รับรองมีแต่อึ้งกันทั้งนั้น บ้างก็แทงตัวฉันเอง บ้างก็ไปจี้ใจดำใครๆ รับรองมีเหตุผลแต่ตรงจนเกินรับไหวทุกครั้งแหละ

ไอ้คำพูดที่มันทิ่มใจฉันน่ะ มันไม่ทำให้ฉันตายหรอก เพราะฉันยอมรับความจริงในส่ิงที่ฉันพูดเอง แต่ที่คนส่วนใหญ่รับไม่ได้เพราะคนเรามักจะไม่รับความจริงไง ถ้าฉันพูดให้อ้อมให้ลดให้เลี้ยว ให้น้ำเสียงอ่อนลงสักเล็กน้อย ฉันก็คงไม่ได้เป็นผู้หญิงซาดิสม์ในสายตาของใครๆ ละมัง

เข้าเรื่องสักที ท่าทางฉันจะเปลี่ยนจากอารมณ์เบื่อมาเป็นโมโหแล้ว พัฒนาการไปอีกระดับหนึ่งคงใกล้เป็นปกติชั่วคราวแล้วล่ะ ดูสิว่าบทความนี้จะช่วยฉันได้มากน้อยแค่ไหน เพราะฉันเตรียมที่จะตอบคำถามในบทความนี้แล้ว คำถามที่ว่า จะทำให้ผู้ที่มีอาการซึมเศร้ารู้สึกดีขึ้น ฉันจะใส่ความเห็นของฉันเป็นสีม่วงละกันนะ

+++

ป้องกันฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้า
ที่มา/ผู้ประกาศ : ผศ.นพ.พนม เกตุมาน


คอลัมน์สายตรงสุขภาพกับศิริราช
โดย...ผศ.นพ.พนม เกตุมานจิตแพทย์

การฆ่าตัวตาย เกิดจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุใหญ่ที่ทำให้คนฆ่าตัวตาย เกิดจากโรคซึมเศร้า คนที่เป็นโรคซึมเศร้า จะมีความรู้สึกเบื่อรุนแรงแทบทุกอย่างในชีวิต เบื่อที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ความเศร้าที่รุนแรงมาก ๆ อาจทำให้คิดว่าตนเองผิด ไร้ค่า และคิดอยากตาย

--ฉันได้ยินได้อ่านได้รับรู้จุดจบของคนที่มีอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรงอยู่เนืองๆ ว่าจะฆ่่าตัวตาย ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องที่กระทำการดังกล่าวไม่สำเร็จ หรือคนมีชื่อเสียงที่ทำสำเร็จอย่างเลสลี่จาง เวอร์จิเนีย วูลฟ์ (ฉันเขียนให้เธออ่านคงไม่เป็นไร ถ้าฉันจะบอกว่าฉันเองมีความรู้สึกว่ามีอะไรเหมือนเธอคนนี้ทั้งเรื่องดีและไม่ดี) ตั้งแต่ฉันมีอาการซึมเศร้ามา...เท่าที่จำได้อะนะ...ไม่เคยรู้สึกถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย เคยแต่ทำให้ฝันร้าย ประมาณว่า แม้แต่คนขายข้าวขาหมูก็พูดกับฉันไม่ดี ฉันยังไม่เคยเบื่อรุนแรงขนาดเบื่อกินอาหาร ชาบูชาบูยังเป็นอาหารอร่อยสุดโปรดของฉันอยู่ มีคนทำอาหารให้กินก็ยังกินอยู่ แต่ถ้าต้องทำเองก็ไม่แน่ จริงๆแล้ว เป็นสักพักก็ดี ฉันออกจะตกใจที่ชั่งน้ำหนักตอนไปหาหมอ ฉันหนักเกินพิกัด หนักตั้ง 55.8 กิโล ฉันเชื่อว่า ช่วงก่อนซึมเศร้านิดหน่อย ฉันอาจจะเฉียด 60 กิโลโน่นแน่ะ มีคนบอกว่า ฉันเผละ ตัวเป็นปล้องๆ ตอนใส่ชุดรัดรูป ฉันเองมองร่างเปลือยเปล่าในกระจกก็เห็นห่วงยางที่ค่อยๆ พองลมขึ้นเรื่อยๆ ด้วยฉันไม่ออกกำลังกายใดๆ ไม่ได้ดูแลหุ่นเหมือนที่สาวๆ ทั่วไปเค้าทำกัน ฉันเชื่อว่า ถ้าฉันไม่สามารถบรรจุการออกกำลังกายอันไม่ใช่นิสัยของฉันแต่อย่างใดเข้าเป็นกิจวัตรประจำอย่างแน่แท้ ฉันจะต้องปรับให้มันเป็นการทำงานที่ใช้กำลังแทน เหมือนกับคนอายุยืนเป็นร้อยปี ที่อายุยืนเพราะต้องขึ้นเขาทุกเช้าเพื่อไปตักน้ำนั่นแหละ ฉันจึงนิยมทำทุกอย่างด้วยตัวเอง แล้วช่วงแอคทีฟของฉันก็เผาผลาญพลังงานฉันได้ดีนักแล

กลับมาที่เนื้อหาของบทความ ฉันเบื่อจริงๆ ยกเว้นอาหารกับการนอน เพราะละครก็ดูไปอย่างนั้น (แต่ก็คิดตาม ได้อะไรเหมือนกันนะ) ฉันรู้สึกผิด อันนี้จริง เพราะการไม่รับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายและงานที่ไปรับปากว่าจะทำทั้งหลายมันก็ต้องผิดอยู่แล้ว ฉันไร้ค่ามั้ย ฉันว่าฉันมีค่านะ แต่เหมือนมันไม่มีอะไรที่มีค่าสำหรับฉันจริงๆ หรอก (แล้วอันนี้มันแปลว่าอะไรหว่า) ฉันอยากตาย (ยัง ยัง เรื่องนี้ฉันปฏิเสธเด็ดขาด แม้จะเหมือนไม่มีจุดหมายในชีวิต ฉันถามตัวเองว่าจริงๆ แล้วอยากทำอะไรกันแน่ ก็พบว่า ไม่มีสิ่งใดที่ขาดแล้วจะตาย ฉันดูจะขาดกิเลสในเรื่องนี้ ขาดความทะยานอยากที่จะได้จะเป็นอะไร ยิ่งการแข่งขันยิ่งแล้วใหญ่ ฉันไม่ชอบการแก่งแย่งชิงดีอะไรกับใคร แม้ว่าหลายต่อหลายครั้งคนจะเข้าใจว่าฉันต้องเป็นที่หนึ่ง ต้องชนะ ฉันแค่ตั้งใจทำส่ิ่งที่ทำอยู่เท่านั้นจริงๆ นะ ใครช่วยเชื่อฉันที)--

การตายจึงเป็นเหมือนทางออกของปัญหาในระยะสั้น ไม่ต้องเผชิญปัญหาต่อไป
ความคิดของคนจะฆ่าตัวตาย มักไม่เห็นหนทางแก้ไขปัญหา ชีวิตมืดมน และหมดหวัง ทั้ง ๆ ที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

--ฉันก็รู้อยู่ว่าฉันน่ะจัดอยู่ในจำพวกอภิสิทธิชน สามารถเลือกประกอบอาชีพที่ไม่ต้องคำนึงถึงรายได้เป็นเรื่องหลัก อันที่จริงฉันไม่ต้องแก้ปัญหา ไม่ต้องสร้างงานเลยยังได้ ฉันดันมีแม่ที่ประเสริฐมาก แม่ที่เตรียมพร้อมทุกสิ่งทุกอย่าง มีหลักประกันที่ฉันจะดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างสบายแม้ไม่หาเลี้ยงชีพด้วยตัวเอง (และแม่ที่แสนดีก็ไม่อยากให้ลูกเครียดจากเรื่องใดๆ) ฉันเองต่างหากที่หาเรื่องเครียดให้ตัวเอง ฉันคิดสารพัดโปรเจ็คท์ เห็นอะไรน่าสนุกก็อยากลอง แต่โครงการต่างๆ มันไม่ได้ทำกันง่ายๆ บางเรื่องศึกษาลงไปลึกๆ ก็ให้พบปัญหาข้อติดขัด หรือคิดไปคิดมาแล้วไม่คุ้มเหนื่อย อันนี้ก็แล้วแต่มุมที่คนจะมอง มองว่าเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ไม่พยายามให้เต็มที่ก็ได้ หรือจะมองตามความเป็นจริงที่ไม่ควรทำ แต่ฉันไม่เห็นด้วยหรอกนะ ที่ว่าการตายเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ถ้าตายแล้วมันก็จบทิ้งปัญหาไว้ให้คนอื่นจัดการต่อต่างหาก อาจจะจบตรงที่จัดการศพ กิจการงาน หนี้ที่ก่อ(ถ้ามี) เรื่องที่ว่า คนที่จะฆ่าตัวตายจะไม่เห็นหนทางแก้ปัญหา เผอิญฉันเห็นเลยยังไม่คิดอย่างนั้นละมัง--

น่าเสียดายที่คนฆ่าตัวตายคิดเช่นนั้น เพราะถ้าเขารักษาโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง เขาจะกลับมาคิดใหม่ได้ แก้ปัญหาได้ บางคนหายแล้วสงสัยว่าตัวเองคิดมากถึงกับอยากตายตอนนั้นได้อย่างไร

--แม้ฉันจะไม่คิดฆ่าตัวตายแต่ฉันก็เคยรู้สึกว่าทำไมถึงคิดมากจนเบื่อและทำให้ชีวิตดำเนินไปอย่างติดขัดในตอนนั้นได้อย่างไร น่าแปลกจังที่สารเคมีบางตัวในสมองไปกำหนดความคิดให้คนซึมเศร้าคิดแต่เรื่องไม่ดี ไม่อยากทำอะไร อย่างนี้้ถ้าเราอยากได้คนขยันก็ให้กินยานี้ไปสิ กระตุ้นให้ทำ ทำ ทำ เอ หรือ ยาที่ฉันกินก็มีส่วนผสมใกล้เคียงกับยาม้า ยาบ้า มีคนบอกว่าเวลาฉันเมาแล้วเหมือนอัพยามา ความผิดปกติของฉันคงจะทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์จนเกิดปฏิกิริยาคล้ายคลึงกันละมัง เรื่องนี้ฉันสงสัยมานานแล้วล่ะ รู้สึกว่าจะทำปฏิกิริยามากๆ เลยกับยาที่ฉันกินด้วยซ้ำ เพราะครั้งแรกที่รู้ว่ามีอาการเมาที่แปลกผิดมนุษย์มนาก็ตอนที่กินยาและกินเหล้าเนี่ยแหละ จริงๆ หมอก็บอกอยู่แล้วว่า การกินเหล้ามันไปทำลายฤทธิ์ยา ฉันก็ไม่ควรกินอยู่แล้วนั่นแหละ แต่ก็เหมือนคนอื่นๆ บุหรี่ เหล้า เขาก็กินกันทั้งเมือง ถ้าฉันไปเจอคนแล้วไม่กิน ฉันก็นั่งตัวแข็งเป็นรูปปั้น ไม่มีใครอยากคุยด้วย แล้วก็มีหลายๆ คนชอบเวลาฉันเมา ร้องเพลงก็เป็นธรรมชาติและเพราะกว่าปกติด้วยนะ--

การฆ่าตัวตายมักเป็นอาการหนึ่งของโรคซึมเศร้า เมื่อรักษาโรคซึมเศร้าหาย ก็ไม่คิดอยากตาย

การป้องกันการฆ่าตัวตาย ทำได้ ถ้าเข้าใจเรื่องโรคซึมเศร้า และค้นหาให้ได้ว่าใครเริ่มเป็นโรคนี้ อาการเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า คือ
* อารมณ์ไม่สนุกสนาน ไม่ร่าเริงเหมือนเดิม ไม่มีความสุข เบื่อ ท้อแท้ เครียด หงุดหงิด และเศร้า
* หมดความสนใจในสิ่งต่างๆ เบื่อสิ่งที่เคยทำแล้วสนุก มีความสุข ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากเจอใคร
* เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก (หรือบางคนกินมากเพื่อให้หายเครียด น้ำหนักเพิ่มขึ้น)
* นอนไม่หลับ หลับๆตื่นๆ หรือตื่นเร็วกว่าเดิม 2-3 ชั่วโมงแล้วนอนต่อไปไม่ได้ (แต่บางคนนอนมากขึ้นเนื่องจากไม่อยากทำอะไร นอนแต่ก็ไม่หลับ)
* เหนื่อยหน่าย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่อยากทำอะไร
* ความคิดช้า การเคลื่อนไหวช้า
* สมาธิความจำเสีย ตั้งใจทำงานไม่ได้ ลังเลตัดสินใจลำบาก
* คิดว่าตัวเองไร้ค่า ทำผิด ทำไม่ดี คิดต่อตัวเองไม่ดี
* อยากตายและฆ่าตัวตาย


อาการของโรคมักเริ่มจากเป็นน้อยๆ มากขึ้นช้าๆ หรือรวดเร็ว อาจมีหรือไม่มีสาเหตุจากการสูญเสียหรือความเครียดทางจิตใจ ถ้ามีสาเหตุทางจิตใจ มักเป็นความเครียดในชีวิต เช่น ปัญหาการเรียน การทำงาน หรือความสูญเสียในชีวิต เช่น สอบตก อกหัก คนรักเสียชีวิต หย่าร้าง ตกงาน เป็นต้น

--เนี่ยแหละที่เป็นปัญหา ฉันรู้สึกว่าฉันเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ นับย้อนไปตั้งแต่ที่เบี้ยวไม่ไปเรียน ถ้านั่นถือว่าเป็นอาการของโรค และเมื่อพบปัญหาในชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ ฉันก็ไม่ได้จัดการมันอย่างถูกวิธี เข้าตำราอีคิวต่ำเป๊ะเลย อะไรๆ ฉันก็เอามาเป็นปัญหาได้หมด เรื่องเล็กก็เป็นเรื่องใหญ่อย่างที่มีคนเคยว่าไว้จริงๆ ไม่ต่างจากปัญหาของพี่ที่ฉันรู้จักว่าเหตุที่เขาจะฆ่าตัวตายเป็นเพราะเขาคบผู้หญิงสองคนพร้อมๆ กันแล้วทำให้ผู้หญิงทั้งสองโกรธกันจนไม่พูดกันอีกเลย ฉันฟังเรื่องนี้แล้วก็คิดว่าแค่รู้สึกเศร้าก็พอแล้ว มันไม่ได้ร้ายแรงขนาดจะฆ่าตัวตายสักกะหน่อย แล้วปัญหาของฉันคราวนี้และคราวที่แล้วล่ะ มันไม่ได้มีอะไรที่เกินรับไหวสักกะหน่อย ออกจะมีอะไรที่น่าตื่นเต้น น่าทำรอฉันอยู่ด้วยซ้ำ ฉันยังไม่ตื่นไปทำเลยทั้งๆ ที่ก่อนนอนฉันเตรียมทุกอย่างไว้พร้อมสรรพ ทั้งเสื้อผ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อีกทั้งยกพร้ินเตอร์ใส่รถเรียบร้อย ทำไมหนอ ภูมิต้านทานฉันถึงได้ต่ำนัก ฉันอยากรู้จังว่ามันมีวิธีวัดระดับเซโรโตนินให้เป็นตัวเลขอย่างชัดเจนมั้ย จะได้รู้ว่าคุณยายที่ต่อสู้เรื่องที่ตัวเองร่วม 30 ปีเค้ามีสารเคมีตัวนี้มากกว่าฉันแค่ไหน--

คนที่เป็นโรคซึมเศร้า มักไม่รู้ตัวว่าเป็น ไม่มาพบแพทย์ บางคนกลัวว่าการมาพบจิตแพทย์แสดงว่าเป็นโรคจิตโรคประสาท ทำให้ขาดการช่วยเหลือ จากการสำรวจพบว่า คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 100 คน มีเพียง 10 คนเท่านั้นที่พบแพทย์และได้รับการรักษาด้วยยาอย่างถูกต้อง

--ฮ่า ฮ่า ฉันรู้ตัวว่าเป็น แต่ก็ไม่ง่ายหรอกที่จะไปหาหมอ อย่างน้อยฉันก็ฝ่าด่านเป็น 10 ใน 100 ที่เลือกวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องละน่า ที่เหลือก็หวังว่ายาจะทำให้ฉันกระตือรือร้นอีกครั้ง แล้วก็ไปแก้ไขเรื่องต่างๆ อันเป็นผลจากความไม่รับผิดชอบของฉันนั่นแหละ--

โรคซึมเศร้ารักษาไม่ยาก เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการแปรปรวนของสารสื่อนำประสาท ที่สามารถแก้ไขได้ด้วยยารักษาโรคซึมเศร้า ร้อยละ 80 หายได้เมื่อได้รับยาร่วมกับการรักษาทางจิตใจ เวลาหายจะเป็นปกติเหมือนคนเดิม โรคนี้มิใช่โรคจิต โรคประสาท เป็นโรคทางอารมณ์ ที่รักษาหายได้เหมือนเดิม

--โรคนี้รักษาหายได้ก็ดูจะดี แต่ก็ได้ยินเหมือนกันว่าต้องกินยาตลอดชีวิต และฉันก็รู้จักหลายๆ คนที่ต้องกินยาตลอดชีวิต ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป บางคนออกจะแอคทีฟเป็นคนอีกประเภทเลยทีเดียว ไม่น่าเชื่อจริงๆ แม้กระทั่งตัวของฉันเอง จะเชื่อดวงมั้ยล่ะ คนที่ใกล้ชิดฉันแล้วมีพฤติกรรมประมาณนี้ มฤตยูหรือดาวเกตุกุมลัคนาทั้งนั้นแหละ คำพูดของหลวงพ่อท่านหนึ่งยังติดอยู่ในใจฉันเสมอ "ฉันจะเจอแต่คนแปลกๆ" ฉันคิดนะ ไม่ใช่ไม่คิด ฉันจะทำอย่างไรกับชีวิตหลังจากนี้ ฉันจะทำให้มันดีขึ้นได้หรือ มันไม่มีอะไรทำให้ฉันกระตือรือร้นได้นักหนาจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนเอกหรือพิธีกร อะไรๆ ฉันก็ทำไปอย่างงั้นแหละ เผอิญเรื่องต่างๆ มันไม่ยาก ถ้ายากหรือไม่คุ้มฉันก็ไม่ทำ หรือถ้าเคยทำแล้วก็ผลักภาระไปให้คนอื่น เป็นไงล่ะ นิสัยเสียของฉัน!--

โรคนี้พบได้บ่อย ๆ ในสังคม อาจเกิดกับตัวเองหรือคนใกล้ชิดก็ได้ ถ้าพบว่าใครมีอาการหลายๆข้อของโรคซึมเศร้าข้างต้น นานหลายวันติดต่อกัน หรืออาการมากขึ้น ควรปรึกษาจิตแพทย์ที่ใกล้ที่สุด

--ถ้าใครหลงกลอ่านมาถึงบรรทัดนี้ ไม่เป็นเองก็คงต้องคนใกล้ชิดแหละ ไม่งั้นคงไม่ตามอ่านมาขนาดนี้ ฉันก็หวังว่ามันจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นอย่างน้อยสักคนเดียวก็ถือว่าได้รักษาชีวิตของคนที่เป็นมากกว่าฉันละนะ--

ถ้าสงสัยว่าคนใกล้ชิดมีอาการคล้ายโรคซึมเศร้า เช่น ซึมเฉย เงียบ ไม่พูดไม่จา เฉื่อยชา ช้า ทำอะไรผิดไปจากเดิมมากๆ การเรียนหรือการทำงานเสียไป การห่วงใยสอบถามเขาถึงอาการของโรคซึมเศร้า จะเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นที่ดี คนที่ซึมเศร้าจะรู้สึกมีเพื่อน มีที่พึ่ง อาการซึมเศร้าจะดีขึ้น และไม่ค่อยฆ่าตัวตาย

--ฉันก็ว่า ใครๆ คงอยากให้คนสนใจอยู่แล้วแหละ แต่บางทีมันก็เหมือนเป็นการเรียกร้องความสนใจเหมือนกันนะ เหมือนเด็กเลี้ยงแกะอะ บางทีคนที่ดูแลอาจจะเซ็งจนบางครั้งแอบคิดว่า ตายจริงๆ ก็ดี เพราะระอาเหลือทน ขอบันทึกไว้หน่อย ความคิดนี้แว่บมาพอดี มีคนที่อ่านบทความของฉันแล้วก็บอกว่า ถ้าเป็นคนอื่นอ่านก็จะหาว่าเพ้อเจ้อ แต่จริงๆ แล้วมันก็แค่เป็นความรู้สึกตอนนั้นเท่านั้นเอง หลังจากฟังความคิดเห็น ฉันก็ให้ประหลาดใจว่าทำไมเข้าใจเหมือนอ่านใจฉันเลย แล้วก็เพิ่งมาอ๋อตอนนี้ ก็เขาเป็นโรคเดียวกับฉัน แล้วจะไม่เข้าใจกันได้ยังไง มิน่าล่ะ อะไรๆ อีกหลายๆ เรื่อง เขาถึงได้รู้จังหวะเหมาะ และเข้ากับฉันได้อย่างดีจนคนเอาไปนินทา (เห็นมั้ย ปัญหามาอีกแล้ว)--

ถ้าเขามิได้เป็นโรคซึมเศร้าจริง การแสดงความห่วงใยถามถึงอาการเป็นการประคับประคองจิตใจที่ดี ไม่มีผลเสียใดๆน่ากลัว

เมื่อพบว่าใครเป็นโรคซึมเศร้า ในตอนท้ายควรแนะนำให้เขามาปรึกษาจิตแพทย์โดยเร็ว การรักษาอย่างรวดเร็วได้ผลดีกว่ารักษาช้า โดยเฉพาะผู้ที่มีความคิดอยากตาย หรือคิดฆ่าตัวตาย การแนะนำให้รักษาจะเป็นการช่วยชีวิตเขาทีเดียว

คนที่กำลังคิดฆ่าตัวตายนั้น บางทีแสดงออกเป็นพฤติกรรมให้รู้ได้ เช่น
* บางคนเปรยๆให้คนใกล้ชิดฟัง เช่น “รู้สึกเบื่อจัง ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม”
* บางคนพูดเป็นเชิงฝากฝัง สั่งเสีย เช่น “ฝากดูแลลูกด้วยนะ”
* บางคนดำเนินการบางอย่าง เช่น ทำพินัยกรรม โอนทรัพย์สมบัติให้ลูกหลาน

--อ่านบรรทัดนี้แล้วนึกถึงอีเมลตัวเองว่ะ นึกถึงจดหมายก่อนตายของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ เวอร์จิเนีย วูลฟ์กับสุวรรณี สุคนธาด้วย 555--

ถ้าสงสัยว่าคิดฆ่าตัวตายหรือไม่ ควรถาม การถามเรื่องการฆ่าตัวตายนี้สำคัญมาก ทำได้ ควรทำอย่างยิ่ง เพราะช่วยรักษาชีวิตเขาไว้ได้

การถามเรื่องฆ่าตัวตาย ทำได้โดยใช้ชุดคำถามขั้นบันไดดังนี้
1. เมื่อพบว่ามีอารมณ์ซึมเศร้า ให้ถามต่อไปว่า “ความเศร้านั้นมากจนทำให้เบื่อชีวิต หรือไม่”

--เบื่อแต่ยังไม่อยากตาย ยังรอที่จะเจออะไรที่สามารถทำให้เลือดสูบฉีด--

2. ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “คิดอยากตาย หรือไม่”

--คิดครึ่งเดียว แล้วก็ยังไม่อยากตาย แต่อยากตอบข้ออื่นด้วย เป็นไรมั้ย--

3. ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “คิดจะทำหรือไม่”

--อยากนอน ดูหนัง ดูทีวี หาข้อมูลในเน็ต ไม่อยากทำงาน ไม่อยากเจอคน ได้ยินคำนินทา (แต่ก็รู้เรียบร้อยว่ามีคนไปปล่อยสารพัดข่าว)--

4. ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “คิดจะทำอย่างไร”

--ไม่เคยคิด แต่ถ้าคิดเมื่อไหร่ คงต้องให้ตายแน่ๆ แล้วไม่ต้องทรมานไปแล้วไปเลย นึกอยู่เหมือนกันว่าเกิดในอนาคตเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ คงไม่อยู่ให้คนในครอบครัวเสียค่าใช้จ่ายและดูแล ไม่อยากเป็นภาระของใคร--

5. ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “เคยทำหรือไม่”

--ไม่เคยค่ะ--

6. ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “เคยทำอย่างไร”
7. สุดท้าย ให้ถามต่อไปว่า “มีอะไรยับยั้งใจ จนทำให้ไม่ได้ทำ หรือหยุดความคิดนี้ได้”
คำถามสุดท้าย ไม่ว่าตอบอย่างไร จะเป็นปัจจัยป้องกัน ช่วยให้เขายั้งคิด ไม่ทำในครั้งต่อไป

--นั่นนะสิ ถ้าคิดจะทำสงสัยไม่มีอะไรยับยั้งมั้งเนี่ย แค่รู้อยู่ว่าทำแล้วไม่ดี คนอื่นแย่กว่าเราตั้งเยอะยังผ่านวิกฤติต่างๆ ได้เลย ความคิดที่ว่าถ้าทำแล้วไม่สำเร็จต้องพิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ (แม้กระทั่งฆ่าตัวตายอีกครั้ง) คงจะทำให้ไม่ทำมั้ง แต่เอ ถ้ากระดิกตัวไม่ได้ก็ยังกลั้นลมหายใจตัวเองได้นี่นา แต่ท่าทางมันคงทรมานน่าดูกว่าจะตาย นี่สงสัยฉันต้องไปหยิบหนังสือวิธีฆ่าตัวตายของคุณนพดลมาอ่านแล้วมั้งเนี่ย 555)--

บางคนมีความเชื่อเก่าที่ไม่ถูกต้องว่า การถามเรื่องการฆ่าตัวตาย จะไปกระตุ้นคนที่ยังไม่คิดให้ไปคิดฆ่าตัวตาย หรือคนที่คิดอยากตายอยู่แล้วการถามเป็นการกระตุ้นให้ทำจริงๆ ความเชื่อเหล่านี้ไม่เป็นความจริง

ความจริงคือ การถามไม่ได้ชักจูงหรือกระตุ้นให้คิด หรือทำ แต่สำหรับคนที่คิดจะทำอยู่แล้ว จะรู้สึกดีขึ้นจนไม่ทำ

สรุปคือเราทุกคนมีส่วนร่วมในการป้องกันการฆ่าตัวตายได้ ดังนี้
* สนใจ ใส่ใจ สังเกตตนเอง เพื่อนๆ และคนใกล้ชิด ว่ามีอาการของโรคซึมเศร้าหรือไม่ ถ้ามี ให้ถามว่ามีความคิดอยากฆ่าตัวตายหรือไม่
* ถ้าตนเองเกิดโรคซึมเศร้า ให้ปรึกษาทีมสุขภาพจิตโดยเร็ว
* แนะนำผู้ที่ซึมเศร้า มาพบทีมสุขภาพจิต
--ไปพบแล้วค่ะแม้ว่าจะไม่คิดฆ่าตัวตาย รออยู่ว่ายาออกฤทธิ์ให้กลับไปใช้ชีวิตปกติเมื่อไหร่ จะได้ไปเก็บกวาด ดูแลความเสียหายที่ก่อเอาไว้ โอกาสต่างๆ ที่เสียไปก็คงทำอะไรไม่ได้ตามประสาคนที่ไม่ชอบยื้อ กะว่าจะรับผิดชอบอะไรๆ ให้เหมาะกับความสามารถทางใจของตัวเอง คิดอยู่ว่า ถ้าเริ่มเบื่ออีกครั้งฉันจะรีบไปหาหมอมั้ย หรือว่าจะเลือกใส่เสื้อกันหนาวตั้งแต่หน้าร้อนมันไปซะเลยจะได้สิ้นเรื่อง--


1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

หายไวไวนะครับ