วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ฝรั่งเขาทำอะไรกับ Persepolis อีกนะ

รูปเล่าเรื่อง: ฝึกอ่านเอาเรื่องกับแพร์ซโพลิส

เว็บข้างต้นเป็นแหล่งรวมแผนการสอนเพื่อช่วยให้คุณครูทั้งหลายเบาแรง ไม่ต้องวางแผนใหม่ทุกครั้ง สามารถคัดเลือก ปรับเปลี่ยนจากแผนการสอนของคนอื่นได้ ฉันว่าเป็นไอเดียที่ดีนะ ไม่รู้ว่าคุณครูชาวไทยเขาแบ่งปันกันอย่างนี้มั้ย เมื่อก่อนฉันเคยสมัครเป็นสมาชิก Early Childhood Education Mailing List ได้ความรู้เยอะทีเดียว เป็นการรวมตัวของครูเด็กปฐมวัยในสหรัฐอเมริกาเสียเป็นส่วนใหญ๋ ที่แบ่งปันความรู้พูดคุยกันเกี่ยวกับปัญหาเรื่องราวที่ประสบ ฉันอยากให้มีบรรยากาศความร่วมมือกันแบบนี้ในเมืองไทยเสียจริงๆ ว่าแต่ว่ามาเข้าเรื่องดีกว่า ว่าเว็บไซต์นี้เขาเอา Persepolis ไปใช้ประกอบการเรียนการสอนนักเรียนเกรด 9-12 (ก็ประมาณมอสามถึงมอหกของเรา)อย่างไร

อ่านไปได้หน่อยก็รู้สึกเห็นด้วยที่ว่าเขาเอาเรื่อง Persepolis นี้มาเป็นตัวอย่างของการสอนเรื่อง Graphic Novel ที่ในภาษาไทยจะเรียกว่า นิยายภาพ หรือนิยายการ์ตูน หรืออะไรก็แล้วแต่ ขอให้อ่านและสนใจเป็นใช้ได้ เป็นความจริงที่เด็กรุ่นใหม่จะได้พบเจอและเห็นภาพมากกว่ารุ่นก่อนๆ ดังนั้นนิยายภาพจึงเป็นเครื่องมือที่ดีในการพัฒนาเด็กให้มีวิจารณญาณในการบริโภคข้อมูลภาพ เด็กจะได้เรียนรู้และซาบซึ้งการใช้ส่วนประกอบของภาพเช่นสี มุมมอง แนวความคิดที่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และความเข้าใจประเด็นต่างๆ ซึ่งการสื่อด้วยนิยายภาพรับเอาหลักการของปรัชญาโพสต์โมเดิร์น Postmodernism การหลอมรวมของวัฒนธรรมชั้นสูงซับซ้อนกับเรื่องที่อ่านง่ายๆ อีกทั้งการผสมผสานของรูปแบบวรรณกรรม การใช้เสียงที่หลากหลาย และที่สุดแล้วก็นำมาซึ่งรูปแบบการนำเสนอล่าสุดที่นำเสนอมุมมองใหม่ๆ

แผนการสอนนี้มีวัตถุประสงค์ใ้ห้นักเรียนได้เรียนรู้คำศัพท์และเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับนิยายภาพและการ์ตูน นำความรู้ต่างๆ ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้จริงกับหนังสือ Persepolis ของ Marjane Satrapi โดยเลือกเนื้อหาบางตอนเพื่อศึกษาและสรุปความต้องการของผู้เขียนและทางเลือกที่ใช้ในการสื่อความคิด ศึกษาว่าภาพช่วยให้เข้าใจเนื้อหาที่เป็นตัวอักษรหรือทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้นได้อย่างไร จากนั้นก็ให้นักเรียนนำเสนอรายงานต่อหน้าเพื่อนๆ ในชั้นเรียน เพื่อฝึกการพูด การสื่อความคิดและการสรุปประเด็นที่สำคัญ

ขอฉันไปเรียนจากแผนการสอนนี้ก่อนนะเธอแล้วจะมาเล่าให้ฟังต่อ คงได้ความรู้อีกเยอะเลยล่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: