วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
It depends...... มันก็แล้วแต่.....
ใครคือ Marjane Satrapi (มาร์จอเน่ ซาทราพิ)
เธอคือผู้เขียนเรื่องแพร์ซโพลิส(Persepolis)ที่ฉันแปลนั่นแหละ
ฉันนั่งรอ ร้อ รอให้ดาวน์โหลด YouTube เสร็จทั้งหมดแล้วจึงเริ่มฉายซ้ำอีกรอบ เพราะถ้าดูตั้งแต่รอบแรก มันตะกุกตะกักเหลือเกิน ฉันดูมาหลายวิดีโอแล้ว แต่ติดใจวิดีโอชุดนี้ ที่พูดถึงว่ามาร์จอเน่ Marjane (อ่านแบบอเมริกันว่า มาร์จาน แต่ก็เหมือนเดิมแหละ ฉันเลือกจะอ่านแบบที่เพื่อนชาวอิหร่านพูดให้ฉันฟัง)คุ้นเคยกับการ์ตูนแค่ไหน อะไรทำให้เธอกลายเป็นนักเขียนการ์ตูน และเรื่องราวที่น่าคิดเกี่ยวกับยายของเธอ
สำหรับคนที่ไม่อยากฝึกภาษาอังกฤษสำเนียงคนอิหร่านที่อยู่ในฝรั่งเศส (แปลว่าฟังยากกว่าสำเนียงคนอังกฤษและคนอเมริกัน แต่ฉันก็ว่าฟังง่ายนะ) ฉันก็จะสรุปคร่าวๆ ให้ฟังนะเธอ (แปลว่า แปลเฉพาะที่อยากแปล)
คนที่สัมภาษณ์ถามมาร์จอเน่ว่า เธอคุ้นเคยกับการ์ตูนมากแค่ไหนตอนเด็กๆ(โดยใช้คำว่า graphic novel) และเมื่อใดที่เธอคิดจะเป็นคนวาดการ์ตูน
มาร์จอเน่เล่าว่า เธอไม่ค่อยได้อ่านเรื่องพวกนี้เท่าไหร่หรอก อ่านให้ลูกพี่ลูกน้องฟังบ้าง มีเพียงการ์ตูนอเมริกันเรื่องแดร็คคิวล่าที่เธออ่านเป็นเรื่องเป็นราวและด้วยเหตุใดไม่ทราบได้เธอเข้าใจว่าถ้าต้องการเป็นแดร็คคิวล่าต้องกิน rolled chicken แล้วเธอก็กิน rolled chicken ตลอดช่วงฤดูร้อน จากนั้นก็ได้อ่านมากขึ้น เมื่อมาอยู่ที่ฝรั่งเศส เธอก็ได้อ่านการ์ตูนของ Art Spiegelman เรื่อง The Complete Maus: A Survivor's Tale ที่เธอได้รับเป็นของขวัญวันเกิด ซึ่งก่อนหน้าที่เธออ่านหนังสือเล่มนี้ เธอก็มีความรู้สึกว่าการ์ตูนเป็นเรื่องของเด็กๆ ผู้ใหญ่บ้องตื้น เหมือนๆ กับที่คนอื่นๆ คิด แต่หลังจากอ่านเรื่อง Maus เธอก็รู้สึกเหมือนมีใครมาตบหน้า ทำให้เธอปิ๊งขึ้นมาว่า การ์ตูนก็เหมือนสื่ออื่นๆ และยังเป็นวิธีที่สามารถสื่อความเป็นตัวเราเองได้เป็นอย่างดี
ผู้สัมภาษณ์ถามถึงยายของมาร์จอเน่ว่าเธอเป็นขนาดนั้นเลยเหรอ
เมื่อพูดถึงยาย ยายจริงๆ แย่กว่าในหนังการ์ตูนอีกนะ คือ ยายเป็นคนตรงมาก ตรงอย่างที่สุด พูดตรงเกินไป ยายจะพูดอะไรที่เราไม่คิดว่าใครจะกล้าพูด แต่ถ้าจะให้บอกว่าใครเป็นคนที่มีอิทธิพลที่สุดในชีวิตของเธอ คนๆ นั้นก็คือ ยาย ยายเป็นคนมีศีลธรรม (ethical)มากแต่ไม่เชื่อในเรื่องความถูกผิดแบบขาว-ดำ(Morality) เพราะยายเชื่อว่าการกำหนดว่าอะไรถูกหรือผิดบอกให้ทราบถึงหน้าที่แต่ไม่ได้ให้สิทธิเสรีภาพกับเรา
ตอนมาร์จอเน่อายุประมาณ 10 ขวบ เธอกลับมาบ้านหลังจากอ่านอะไรดีๆ มาสักอย่างแล้วเธอก็พูดกับยายว่า
"ยายขา ยายขา การโกหกนี่มันแย่มากนะ"
"มาร์จี้ มันก็แล้วแต่"
"มันแล้วแต่ได้ไง ยายพูดยังงี้ได้ไง"
"ก็อย่างเช่น ในคุกคุณตาต้องโกหกเยอะมากเพื่อรักษาชีวิตคนอื่น แล้วเราจะบอกว่ามันไม่ดีได้ยังไง"
"งั้นขโมยของก็ไม่ดี"
"มันก็แล้วแต่..เพราะ..."
ไม่ว่าเธอจะถามอะไรยาย ยายก็จะพูดว่า "มันก็แล้วแต่"
แล้วมันก็จริงอย่างที่ยายพูดด้วยแหละ ประเด็นที่ว่าเรื่องศีลธรรมเป็นเรื่องของความเห็นส่วนบุคคลอย่างหนึ่ง และก็เป็นเรื่องของเราในฐานะของมนุษย์อีกอย่างหนึ่ง ในฐานะที่เป็นมนุษย์ว่าเราคิดอย่างที่ไม่ได้มีใครบอกให้เราคิด และนั่นก็คือเรื่องราวที่มีอิทธิพลต่อมาร์จอเน่และเป็นแรงบันดาลใจให้เธอในด้านการศึกษา...และจะว่าไปแล้วก็ทั้งชีวิตของเธอด้วยซ้ำไป
ป้ายกำกับ:
งานของฉัน,
แพร์ซโพลิส,
Persepolis
Persepolis: The city of Persians
ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น
เราสามารถออกเสียงคำว่า Persepolis ได้หลายแบบ รากศัพท์ดั้งเดิมในภาษากรีกหมายถึงเมืองของชาวเปอร์เซียซึ่งก็คือประเทศอิหร่านในปัจจุบัน ฟังการออกเสียงแบบกรีกได้ที่ http://www.answers.com/topic/persepolis
ในภาษาฟาร์ซี(เปอร์เซีย)เมื่อร้อยปีที่แล้วออกเสียงว่า แพร์-เซ-โพ-ลิส ในปัจจุบันมักออกเสียงว่า แพร์ซโพลิส นั่นคือที่มาของชื่อหนังสือที่ฉันเลือกใช้ รวมทั้งคำอื่นๆ ในภาษาฟาร์ซีที่ฉันพยายามสะกดตามแบบที่ชาวอิหร่านออกเสียง
ความหมายหนึ่งของ Persepolis คือ ชื่อเมืองโบราณที่สร้างโดย Darius The Great (ในภาษาอังกฤษออกเสียงว่า Da-Ri-Oos ในภาษาฟาร์ซีออกเสียงว่า Daar-Yush)ที่ซึ่งองค์การยูเนสโกได้ประกาศให้เป็นหนึ่งในมรดกโลกเมื่อปี 1979
แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับประเทศอิหร่าน (เปอร์เซีย)
ลิงค์นี้รวมเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของอิหร่าน กษัตริย์และคนสำคัญอย่างละเอียด สำหรับท่านที่สนใจอย่างลุ่มลึก
http://www.livius.org/persia.html
ป้ายกำกับ:
งานของฉัน,
แพร์ซโพลิส,
Persepolis
Persepolis 1
แพร์ซโพลิส (Persepolis) ในความหมายที่หลายๆ คนคุ้นเคยอาจจะเป็นชื่อภาพยนตร์การ์ตูนที่ได้รับรางวัลที่เมืองคานส์ ผลงานของโซนี่พิคเจอร์ส (Sony Picture) หรือใครที่เคยไปเที่ยวประเทศอิหร่านอาจจะทราบว่าเป็นเมืองโบราณที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ แต่ดิฉันคิดว่าความหมายของชื่อนี้ที่ได้รับเลือกเป็นชื่อหนังสือการ์ตูนเชิงอัตชีวประวัติของผู้หญิงอิหร่านที่เติบโตในสองวัฒนธรรมเล่มนี้ก็คือ ความหมายในภาษาเปอร์เซียและภาษากรีกของแพร์ซโพลิส 'เมืองของคนเปอร์เซีย' ซึ่งก็คือ ประเทศอิหร่านนั่นเอง
ก่อนที่จะแปลหนังสือเล่มนี้ ดิฉันรู้จักประเทศอิหร่านน้อยมาก มีเพียงเพื่อนชาวอิหร่านคนหนึ่งที่เคยแบ่งปันความรู้สึกให้ฟังว่า การที่เขาเติบโตในสองวัฒนธรรม ใช้ชีวิตวัยเด็กในประเทศเสรีนิยมอย่างสหรัฐอเมริกาและกลับมาเรียนจนจบปริญญาตรีในประเทศอนุรักษนิยมอย่างอิหร่าน ทำให้การปรับตัวเป็นเรื่องใหญ่มาก หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เห็นภาพชีวิตในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงภายหลังการปฏิวัติอิสลาม( Islamic Revolution) และสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเหล่านั้นต้องทำเพื่อความอยู่รอดก็คือ การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ซึ่งหลายครั้งเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล หลายหนเป็นเรื่องที่ต้องลองผิดลองถูก คนที่มีความแตกต่างจากคนอื่นๆ โดยเฉพาะในเรื่องแนวความคิดและหลักในการดำเนินชีวิต จะประสบปัญหามากกว่าคนทั่วๆ ไป และแพร์ซโพลิสก็แนะนำให้เรารู้จัก ‘ขบถ’ เหล่านั้นผ่านมุมมองและสายตาของมาร์จี้ สาวน้อยซึ่งมีความเป็นขบถในตัวไม่ยิ่งหย่อนกว่าใคร
ดิฉันเชื่อว่า หนังสือเล่มนี้จะสร้างแรงบันดาลใจและเป็นกำลังใจให้หลาย ๆ คนต่อสู้กับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ หรืออย่างน้อยๆ ก็ทำให้เพลิดเพลินใจ การบอกเล่าเรื่องราวและประสบการณ์ที่ทั้ง ‘ขำ’ และ ‘คัน’ ของมาร์จี้ ตั้งแต่เป็นเด็กหญิงอายุเก้าขวบไปจนกระทั่งจบปริญญาตรี มุมมองของเธอแต้มรอยยิ้มบางๆ ให้เรื่องหนักหนาสาหัสและทำให้เรารู้ว่า ความเข้มแข็งเท่านั้นที่จะพาเราผ่านปัญหาและอุปสรรคในชีวิต ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหน
แพร์ซโพลิสเป็นหนังสือที่ดิฉันอยากให้คนใกล้ตัวได้อ่าน เพราะปัญหาที่มาร์จี้เผชิญในอิหร่านเป็นปัญหาสากลที่สามารถพบได้ทั่วทุกมุมโลก ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องการอำนาจและแสวงหาเสรีภาพ แพร์ซโพลิส ช่วยให้เราเข้าใจคนในวัฒนธรรมอื่น และสะกิดใจให้เราย้อนกลับมามองตัวเองว่า เราเข้มแข็งและกล้าเผชิญความจริงอย่างเด็กผู้หญิงคนนี้แล้วหรือยัง
ณัฐพัดชา
สิงหาคม 2551
ป้ายกำกับ:
งานของฉัน,
แพร์ซโพลิส,
Persepolis
วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
บล้อกใหม่เพื่อไม่ให้กระเทือนใคร
ฉันตัดสินใจลบบล้อกเก่าทันทีแบบไม่เสียดายอะไรทั้งสิ้น เพราะฉันออกจะแน่ใจได้ว่า ข้อเขียนของฉันเริ่มไปกระเทือนใครเข้าให้แล้ว ดูท่าจะตั้งใจอ่านบทความของฉันน่าดูด้วยนะเนี่ย ด้วยระยะเวลาใกล้เคียงกัน มีคนเข้ามาดูข้อมูลของฉันในสองจังหวัดยาวรวดตั้งแต่สามโมงจนหกโมงเย็น ไม่ใช่แค่สอง แต่มากกว่านั้น ฉันไม่รู้จะบอกแฟนประจำนิรนามของฉันที่เฝ้าติดตามได้อย่างไร ได้แต่นึกภาวนาในใจว่า ถ้าแฟน ๆ ของฉันจะได้รับรู้เรื่องราวของฉันต่อไป เราคงได้เจอกันอีกครั้ง นะคะ
ณัฐพัดชา
ณัฐพัดชา
ป้ายกำกับ:
คำชี้แจง
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)