วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

It depends...... มันก็แล้วแต่.....



ใครคือ Marjane Satrapi (มาร์จอเน่ ซาทราพิ)

เธอคือผู้เขียนเรื่องแพร์ซโพลิส(Persepolis)ที่ฉันแปลนั่นแหละ

ฉันนั่งรอ ร้อ รอให้ดาวน์โหลด YouTube เสร็จทั้งหมดแล้วจึงเริ่มฉายซ้ำอีกรอบ เพราะถ้าดูตั้งแต่รอบแรก มันตะกุกตะกักเหลือเกิน ฉันดูมาหลายวิดีโอแล้ว แต่ติดใจวิดีโอชุดนี้ ที่พูดถึงว่ามาร์จอเน่ Marjane (อ่านแบบอเมริกันว่า มาร์จาน แต่ก็เหมือนเดิมแหละ ฉันเลือกจะอ่านแบบที่เพื่อนชาวอิหร่านพูดให้ฉันฟัง)คุ้นเคยกับการ์ตูนแค่ไหน อะไรทำให้เธอกลายเป็นนักเขียนการ์ตูน และเรื่องราวที่น่าคิดเกี่ยวกับยายของเธอ

สำหรับคนที่ไม่อยากฝึกภาษาอังกฤษสำเนียงคนอิหร่านที่อยู่ในฝรั่งเศส (แปลว่าฟังยากกว่าสำเนียงคนอังกฤษและคนอเมริกัน แต่ฉันก็ว่าฟังง่ายนะ) ฉันก็จะสรุปคร่าวๆ ให้ฟังนะเธอ (แปลว่า แปลเฉพาะที่อยากแปล)

คนที่สัมภาษณ์ถามมาร์จอเน่ว่า เธอคุ้นเคยกับการ์ตูนมากแค่ไหนตอนเด็กๆ(โดยใช้คำว่า graphic novel) และเมื่อใดที่เธอคิดจะเป็นคนวาดการ์ตูน

มาร์จอเน่เล่าว่า เธอไม่ค่อยได้อ่านเรื่องพวกนี้เท่าไหร่หรอก อ่านให้ลูกพี่ลูกน้องฟังบ้าง มีเพียงการ์ตูนอเมริกันเรื่องแดร็คคิวล่าที่เธออ่านเป็นเรื่องเป็นราวและด้วยเหตุใดไม่ทราบได้เธอเข้าใจว่าถ้าต้องการเป็นแดร็คคิวล่าต้องกิน rolled chicken แล้วเธอก็กิน rolled chicken ตลอดช่วงฤดูร้อน จากนั้นก็ได้อ่านมากขึ้น เมื่อมาอยู่ที่ฝรั่งเศส เธอก็ได้อ่านการ์ตูนของ Art Spiegelman เรื่อง The Complete Maus: A Survivor's Tale ที่เธอได้รับเป็นของขวัญวันเกิด ซึ่งก่อนหน้าที่เธออ่านหนังสือเล่มนี้ เธอก็มีความรู้สึกว่าการ์ตูนเป็นเรื่องของเด็กๆ ผู้ใหญ่บ้องตื้น เหมือนๆ กับที่คนอื่นๆ คิด แต่หลังจากอ่านเรื่อง Maus เธอก็รู้สึกเหมือนมีใครมาตบหน้า ทำให้เธอปิ๊งขึ้นมาว่า การ์ตูนก็เหมือนสื่ออื่นๆ และยังเป็นวิธีที่สามารถสื่อความเป็นตัวเราเองได้เป็นอย่างดี

ผู้สัมภาษณ์ถามถึงยายของมาร์จอเน่ว่าเธอเป็นขนาดนั้นเลยเหรอ

เมื่อพูดถึงยาย ยายจริงๆ แย่กว่าในหนังการ์ตูนอีกนะ คือ ยายเป็นคนตรงมาก ตรงอย่างที่สุด พูดตรงเกินไป ยายจะพูดอะไรที่เราไม่คิดว่าใครจะกล้าพูด แต่ถ้าจะให้บอกว่าใครเป็นคนที่มีอิทธิพลที่สุดในชีวิตของเธอ คนๆ นั้นก็คือ ยาย ยายเป็นคนมีศีลธรรม (ethical)มากแต่ไม่เชื่อในเรื่องความถูกผิดแบบขาว-ดำ(Morality) เพราะยายเชื่อว่าการกำหนดว่าอะไรถูกหรือผิดบอกให้ทราบถึงหน้าที่แต่ไม่ได้ให้สิทธิเสรีภาพกับเรา

ตอนมาร์จอเน่อายุประมาณ 10 ขวบ เธอกลับมาบ้านหลังจากอ่านอะไรดีๆ มาสักอย่างแล้วเธอก็พูดกับยายว่า

"ยายขา ยายขา การโกหกนี่มันแย่มากนะ"

"มาร์จี้ มันก็แล้วแต่"

"มันแล้วแต่ได้ไง ยายพูดยังงี้ได้ไง"

"ก็อย่างเช่น ในคุกคุณตาต้องโกหกเยอะมากเพื่อรักษาชีวิตคนอื่น แล้วเราจะบอกว่ามันไม่ดีได้ยังไง"

"งั้นขโมยของก็ไม่ดี"

"มันก็แล้วแต่..เพราะ..."

ไม่ว่าเธอจะถามอะไรยาย ยายก็จะพูดว่า "มันก็แล้วแต่"

แล้วมันก็จริงอย่างที่ยายพูดด้วยแหละ ประเด็นที่ว่าเรื่องศีลธรรมเป็นเรื่องของความเห็นส่วนบุคคลอย่างหนึ่ง และก็เป็นเรื่องของเราในฐานะของมนุษย์อีกอย่างหนึ่ง ในฐานะที่เป็นมนุษย์ว่าเราคิดอย่างที่ไม่ได้มีใครบอกให้เราคิด และนั่นก็คือเรื่องราวที่มีอิทธิพลต่อมาร์จอเน่และเป็นแรงบันดาลใจให้เธอในด้านการศึกษา...และจะว่าไปแล้วก็ทั้งชีวิตของเธอด้วยซ้ำไป

ไม่มีความคิดเห็น: