วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552

หนังสอนฉัน (อีกแล้ว)

ฉันหาเรื่องเสียตังค์ทางอินเตอร์เน็ตอีกแล้ว…

เมื่อสองสามวันก่อน กล่องพัสดุจาก amazon.com มาถึงฉันเร็วเกินคาด ยิ้มกับความสุขเล็กๆ ที่จะได้ดูหนังที่อยากดู บางเรื่องดูแล้ว บางเรื่องยังไม่ได้ดู ไม่ได้ซื้อมาเป็นสิบหรอกเธอ ซื้อแค่ 3 เรื่องเท่านั้นแหละ

เรื่องที่ฉันแกะกล่องเปิดดูเรื่องแรกคือ A Good Woman ด้วยประทับใจจากหนังตัวอย่างที่ติดมากับดีวีดีเรื่องอื่น หนังเรื่องนี้คงได้ฉายในเมืองไทยแล้วมัง แต่ไม่ใช่หนังตลาด ถ้าจะฉายออกโรง ก็คงฉายไม่นาน ฉันยังย้อนภาพความทรงจำสมัยอยู่ต่างจังหวัด เวลามีหนังใหม่เข้ามา ถ้าเป็นหนังประเภทนี้ต้องรีบจูงมือคนที่ยังมีให้จูงเดินต๊อกๆ สองคนไปโรงหนัง นั่นคงเป็นหนึ่งในความชอบที่มีร่วมกัน

A Good Woman เป็นเรื่องของผู้หญิง น่าจะเป็นผู้หญิงสองคนที่ถามคนดูตลอดเรื่องว่า คนไหนที่เป็น A Good Woman เพราะชื่อเรื่องบ่งบอกความเป็นเอกพจน์ แปลว่า มีผู้หญิงดีได้แค่คนเดียว (รึเปล่า) แต่มาคิดอีกที อาจจะหมายถึงผู้หญิงคนนึงที่มีความธรรมดาเหมือนคนทั่วๆ ไป คือ มีทั้งดีและไม่ดี แล้วการกระทำของเธอเราจะประเมินว่าเธอเป็น A Good Woman หรือไม่

ฉันไม่แน่ใจว่าเวลาเข้าชิงรางวัลต่างๆ เขานับว่าใครเป็นนางเอก แต่ฉันถูกใจ Helen Hunt ที่สุด ยังนึกถึงแผ่นหลังเปลือยเปล่าของเธอขณะกำลังผสมน้ำอุ่นแล้วเอี้ยวตัวมาคุยกับตุ๊ดในเรื่อง As Good As It Gets ฉันเพิ่งสังเกตว่า มีคำว่า Good ทั้งสองเรื่องเลย

มันจะตามหลอกหลอนฉันไปถึงไหน...

ฉันชอบบทสนทนาของผู้หญิงฉลาดและยังสวยอยู่อย่าง Mrs.Erlynne ทั้งในยามที่สร้างความประทับใจแรกกับ Mr. Windermere ที่หล่อขาดใจ และที่หว่านเสน่ห์ให้ตาเฒ่าที่มีศักดิ์เป็นลุงของพ่อหนุ่มคนนั้น มีคนเขาว่าผู้หญิงเซ็กซี่ที่สมอง ฉันก็ว่าบท Mrs. Erlynne คนนี้ล่ะ ที่เซ็กซี่ถูกใจฉันจริงๆ

A man gets a wife he deserves.

เป็นประโยคเดียวที่ฉันจำได้ และดูเหมือนจะเป็นคำพูดสุดท้ายของเธอด้วย

เรื่องถัดมาฉันเลือกดู Australia ที่นิโคล คิดแมน แม่สาวตาสีฟ้า ใส่ชุดเริ่ดออกงานทุกครั้ง ดูเรื่องนี้แล้วให้นึกถึง Out of Africa จริงๆ โครงเรื่องเหมือนกันเด๊ะ เพียงแต่ Australia ไม่หักหาญน้ำใจคนดู ให้นางเอกครองรักกับพระเอกหุ่นกำยำล่ำสัน เพียงแต่ให้ลูกเลี้ยงที่เป็นลูกครึ่งอะบอริจินส์ walkabout ตามวิถีของพวกเขา

เรื่องที่เก็บไว้ดูเรื่องสุดท้ายคือ The Shawshank Redemption เป็นเรื่องเดียวที่ฉันเคยดูแล้ว แต่ความอมตะของเนื้อหาทำให้ฉันต้องซื้อเก็บไว้ คงจะเอาไว้ดูเวลาหมดหวังหรือต้องการกำลังใจกระมัง หนนี้ฉันดูแล้วก็รู้สึกว่า ฉันคงต้องอดทน รู้จักรอคอยเหมือนพระเอก หัดวางแผนระยะยาว(มากๆ) คิดการใหญ่และไกล ทำสิ่งที่คนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพียงเพราะไม่เคยลองทำ

คนพูดน้อยมักจะต่อยหนัก ไม่ต่อยอย่างเดียวขูดกำแพงทะลุไปอีกฝั่งด้วยความอุตสาหะเกือบ 20 ปี นั่นเป็นสิ่งที่เรื่องเฉลยให้ดูตอนหลัง ความไม่ย่อท้อในการเขียนจดหมายขอเงินทุนและหนังสือสำหรับห้องสมุดของเรือนจำร่วม 6 ปี แม้เงินที่ได้จะเพียง 200 เหรียญ แต่มันเป็นรางวัลของความพยายาม รางวัลที่ได้รับจากการเชื่อมั่นและกระทำเพื่อให้ได้สิ่งที่มุ่งหวัง ฉันเองยังอยากมีห้องสมุดอย่างนี้บ้างเลย แต่ฉันซึ่งมีศักยภาพมากกว่าเขาตั้งเยอะ ยังไม่เคยได้ใช้ความพยายามอย่างจริงจังในการทำให้มันเกิดขึ้นจริง

ฉันคงได้อะไรๆ มาง่ายเกินไป เลยไม่มีความอดทนและพยายามเหมือนคนที่ลำบากกว่าฉัน

เพิ่งดู Shawshank จบ แต่ฉันกลับนึกถึงประโยคก่อนเริ่มเรื่อง Australia

A life in fear is half-lived.

หวังว่าฉันคงจำไม่ผิดอะนะ

จริงๆ แล้ว fear ความกลัว สะท้อนอยู่ในหนังทั้งสามเรื่องและชีวิตประจำวันของทุกๆ คน ความกลัวเป็นแรงขับดันให้คนเราทำอะไรได้มากมาย คนกลัวจนขยันทำงาน คนกลัวตายมีทั้งไม่ยอมหาหมอเพราะปฏิเสธความจริงหรืออีกขั้วก็ตรวจละเอียดถี่ยิบ อะไรที่มีแล้วอาจเป็นมะเร็งก็ตัดมันซะงั้น คนกลัวผิดหวังก็เลือกจะไม่หวังหรือไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนั้นไปเลย กลัวไม่เป็นคนดี ต้องทำผิดเพื่อรักษาความดี (แล้วได้เป็นมั้ยนั่น คนดีน่ะ) กลัวถูกหลอกก็เลยไม่เปิดใจยอมเสี่ยง แล้วก็โดนหลอกในที่สุด

สรุปว่า ไม่ต้องไปกลัวอะไรมันทั้งสิ้นใช่มั้ยเนี่ย รับได้กับสถานะเหมือนปลาโลมาล้อคลื่น

สงสัยฉันคงต้องไปศึกษาชีวิตปลาโลมาซะแล้ว

หรืออันที่จริง ความไม่รู้เป็นสิ่งที่ฉันกลัวกันแน่ ถ้างั้นก็ยอมรับมันเลยสิ ไม่รู้ก็ไม่รู้ ไม่ต้องไปไขว่คว้าหาความจริง รู้หรือไม่รู้จะทำให้ทุกข์หรือสุขก็ใช่ที่ ฉันเป็นคนกำหนดเองว่าจะรู้สึกอย่างไร ปล่อยให้อะไรมามีอิทธิพลกับจิตใจตัวเองบ้าง

แล้วฉันเขียนบล้อกวันนี้ทำไมเนี่ย

เพื่อสอนตัวเองในสิ่งที่รู้ แต่ “ยังไม่รู้” รึเปล่าเธอ

ไม่มีความคิดเห็น: